สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผักโขม ผักพื้นบ้าน โภชนาการสูง

ผักโขม หรือที่คนไทยเรานิยมเรียกว่า”ผักขม” นั้นเป็นวัชพืชประเภทหนึ่งที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่คนไทยเรามักนิยมเก็บใบและลำต้นอ่อนมาประกอบเป็นเมนูอาหาร ทั้งต้มจิ้มน้ำพริกหรือนำมาผัดน้ำมันหอย และยังสามารถนำมาสับเป็นอาหารให้หมูได้ด้วย จนถูกเรียกว่า “ผักหมู” ในบางพื้นที่ ด้วยความเกิดง่าย ขยายพันธุ์พันธุ์เร็ว จึงไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไรในประเทศไทยเรา แต่ในประเทศเม็กซิโกและอินเดีย จะใช้เมล็ดมาคั่วผสมน้ำผึ้งทำเป็นของหวาน

ส่วนในแถบประเทศฝั่งอเมริกาใต้ผักชนิดนี้เป็นผักที่เลอค่ามาก และปัจจุบันองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้พบว่า ส่วนต่างๆของผักโขม ทั้ง ลำต้น เมล็ด และดอกมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าผักและพืชชนิดอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมในตลาด เมล็ดผักโขมถูกจัดให้เป็นธัญพืชที่มีโปรตีนสูงกว่าข้าว ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลี ส่วนของใบนั้นยังให้ทั้งโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินซี และแคลเซียม และยังเป็นผักที่มีความทนทานในทุกสภาพอากาศและสภาพดิน ทำให้เราสามารถได้รับโภชนาการที่ดีจากผักโขมได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทอง  โดยในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเริ่มมีการนำเมล็ดผักโขมมาขายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ส่วนของใบและลำต้นผักโขมที่เหลือทิ้งหลังจากเก็บเมล็ดและช่อแล้ว สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดและทำเป็นอาหารสัตว์ได้

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกผักโขมนั้น แม้ว่าจะสามารถปลูกได้ในทุกสภาพอากาศ แต่จะได้ผลดีอย่างชัดเจนเมื่อปลูกในภูมิอากาศปราณ 16-35 องศาเซลเซียส ในดินด่างที่ระบายน้ำดี การปรับปรุงธาตุดินด้วยไนโตรเจนและ โปแตสเซียมจะเสริมให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น การรดน้ำเน้นช่วงที่เมล็ดกำลังงอกและแตกราก แล้วจึงทิ้งช่วงการรดน้ำได้  โดยทั่วไปเรานิยมปลูกในแปลงเป็นแถว ไม่ควรปลูกชิดกันมาก หากเป็นพันธุ์ผักโขมธัญพืชควรเว้นระยะระหว่างแถวราวๆ 80 เซนติเมตร และช่วงห่างของต้น 20 เซนติเมตร กลบดินหนาไม่เกิน 1 เซนติเมตร เมื่อเริ่มแตกใบได้ 4 ใบ ให้แยกต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก

โดยส่วนใหญ่เราจะปลูกในช่วงปลายสิงหาคมหรือต้นกันยายน เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งป้องกันไม่ให้เมล็ดชื้นนั่นเองครับ การเก็บเกี่ยวเราจะตัดเอาเฉพาะช่อดอกมาตากแห้ง ก่อนกะเทาะเอาเมล็ด หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วต้องระวังเรื่องความชื้นอย่างมาก เพราะเน่าเสียได้ง่าย จึงควรหาที่จัดเก็บที่แห้ง ไม่มีความชื้น เพื่อจะยืดอายุของผลผลิตเราให้ยาวนานขึ้น ส่วนท่านใดจะขายใบผักโขมเพื่อทานสดก็นำไปมัดเป็นกำขายในตลาดได้เลยทันทีครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook