กวักมรกต หนึ่งในต้นไม้ฟอกอากาศ แล้วต้นไม้ฟอกอากาศเป็นอย่างไร กรมอนามัยได้ระบุว่า การปลูกต้นไม้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยมลในการดักจับสารพิษในอากาศ ช่วยป้องกันฝุ่นละออง โดยฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศจะถูกดักจับโดยผิวของใบไม้ และยังช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศที่ระเหยออกมาจากของใช้ภายในบ้านได้ด้วย
กวักมรกต เป็นไม้ประดับที่โดดเด่นด้วยใบที่งดงามสีเขียวขลับเข้มมันวาว ใบมีลักษณะใกล้เคียงกับใบปรงเม็กซิกัน มีความหนา อวบ อุ้มน้ำได้ดี ใบมีขนาดใหญ่ แตกกอง่าย ให้ดอกเป็นช่อบานสีเหลืองเข้ม มีความทนแล้งและที่แสงน้อย ไม่มีเรื่องของแมลงและโรคให้กวนใจ จึงเป็นที่นิยมปลูกในอาคารบ้านเรือนอย่างกว้างขวาง โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น เกล็ดมรกต เกล็ดมังกร เป็นต้น ซึ่งแต่ละชื่อก็ล้วนเป็นมงคลทั้งสิ้น
ไม้ประดับชนิดนี้มีถิ่นที่มาจากประเทศในแถบแอฟริกา จึงทนแล้งได้ดี แต่ไม่ทนต่อน้ำขัง ถ้าเจอน้ำขังจะเกิดโรคเน่าทันที ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยชอบการรดน้ำไม้ประดับ วิธีการปลูกจึงต้องปลูกในดินร่วนซุยเป็นหลักเพื่อจะได้ระบายน้ำได้ดี นิยมขยายพันธุ์เชิงการค้าด้วยการปักชำแผ่นใบย่อย ที่สามารถแตกรากและลำต้นใต้ดินที่เป็นปล้องๆ ที่โคนใบได้ สภาพที่เหมาะสมให้แตกไรโซมขนาดใหญ่และจำนวนมากต้องขยายพันธุ์ในที่ร่ม หรือโรงเรือนที่พรางแสง 50% และมีอุณหภูมิประมาณ 24-28 องศาเซลเซียส ซึ่งจะแตกไรโซมได้ภายในไม่เกิน 3 สัปดาห์หลังการปักชำ หลังจากนั้นอีก 1 เดือนจึงย้ายลงกระถางเพื่อรอให้แตกกอใหม่ ก่อนที่จะนำไปวางขายได้เป็นล่ำเป็นสัน ขอเพียงแค่ใส่กระถางแบบสวยๆ น่ารักๆ ให้ลูกค้าสามารถซื้อหาไปเป็นของขวัญของฝากให้แก่ญาติมิตรได้ หรือจะขายเป็นกิ่งพันธุ์ก็ยังได้ครับ
แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากปักชำไว้ประดับบ้านตัวเองนั้น อาจจะทำได้ง่ายๆ ด้วยการชำในกระบะเพาะชำที่มีทรายและแกลบผสมไว้ในพื้นที่ร่ม แล้วนำใบกวักมรกตมาปักชำไว้ในกระบะแล้วรดน้ำวันละ 1 ครั้ง ประมาณ 1 เดือนก็พร้อมจะแตกเป็นต้นใหม่ ให้เราย้ายลงกระถางได้แล้วครับ เมื่อได้ต้นกวักมรกตมา เราก็นำไปวางไว้ในบ้าน ที่แดดพอจะส่องถึงบ้างนะครับ เพื่อจะให้เกิดกระบวนการฟอกอากาศอย่างเต็มที่ เพราะต้นไม้ต้องสังเคราะห์แสง และระยะที่วางต้องไม่ห่างจากตัวเรามากนัก เพื่อที่เราจะได้รับอากาศบริสุทธิ์ได้ ให้ดีก็ตั้งไว้ข้างๆ โต๊ะทำงานหรือห้องนั่งเล่น ที่เราใช้เวลาอยู่เยอะๆ ครับ เพียงแค่นี้เราก็ได้ทั้งไม้ระดับสวยๆ และอากาศบริสุทธิ์แล้วครับ