สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผักกาดหอม ผักที่ตลาดโตอย่างต่อเนื่อง

ผักกาดหอมหรือที่คนไทยเรานิยมเรียกว่าผักสลัด เพราะมักจะนิยมนำมาทำเป็นเมนูสลัดกันเป็นส่วนใหญ่นั้น เป็นชื่อของผักในกลุ่มที่เราใช้ทานใบสด มีทั้งแบบเป็นหัวหลวมๆ และแบบเป็นใบ โดยมีชื่อเรียกตามสีหรือรูปลักษณะของใบ เช่น กรีนโอ๊ค คือผักกาดหอมที่มีใบสีเขียว เรดโอ๊ค คือผักกาดหอมที่ใบออกสีแดงเข้ม ผักกาดแก้ว จะมีลักษณะเป็นหัวหลวมๆ มีใบกรอบฉ่ำน้ำ สีเขียวใส เป็นต้น

ด้วยความที่เรานิยมทานผักกาดหอมแบบทานสด ไม่ว่าจะนำไปปรุงเป็นสลัดแบบฝรั่งหรือคลุกในยำแบบไทยๆ และนำไปแกล้มลาบ-พล่า ข้าวเกรียบปากหม้อ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องปลอดสารพิษต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อนๆ เกษตรกรจึงชอบปลูกแบบอินทรีย์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผักอาจมีตำหนิบ้าง แต่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยได้เลยครับ

สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากจะปลูกผักกาดหอมแบบอินทรีย์นั้น มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากเลยครับ ขั้นตอนแรก คือ การเตรียมดินโดยในช่วงที่เราขุดเตรียมดิน เราควรขุดทำเป็นแปลงยกร่อง ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนให้ทำเป็นแปลงยกสูง ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งก็ทำแปลงแบบพื้นต่ำธรรมดาติดดินได้  แล้วตากดินทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เพื่อให้ต้นหญ้าวัชพืชตาย แล้วจึงนำปุ๋ยคอกทั้งปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยขี้ไก่แกลบดำแบบธรรมดามาผสมคลุกเคล้าลงดินจนเรียบร้อย จึงนำต้นกล้าผักมาหว่านลงบนแปลงเบาๆ ให้กระจายไปทั่วแปลงแล้วก็นำฟางมาปกคลุมพรางแดดไว้สักประมาณ 2-3 วันก็จะมีต้นงอกขึ้นมา แต่มีเคล็ดลับว่าก่อนที่เราจะหว่านเมล็ดพันธุ์ลงแปลง เราต้องนำเมล็ดไปแช่น้ำก่อน เพื่อเมล็ดพันธุ์จะด้งอกร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยนำเมล็ดไว้ในผ้าขาวแล้วนำไปแช่น้ำ 1 คืนแล้วยกออกมาไว้ในที่อับแสงประมาณสัก 3 วันจะเห็นรากขาวงอกออก แล้วเราจึงนำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไปหว่านลงแปลง โดยเว้นระยะให้เหมาะสม

ผักกาดหอมเป็นผักที่ชอบแสงแดดเต็มที่ การใส่ปุ๋ยเน้นปุ๋ยคอกปุ๋ยขี้วัวใส่ครั้งเดียวตอนเตรียมดินเท่านั้น แล้วรดน้ำอย่างเดียวทุกเช้าเย็น ผักเจริญเติบโตใช้เวลาประมาณ 40 ถึง 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้แล้วครับ ความสำคัญที่สุดคือต้องปรุงดินด้วยปุ๋ยคอกให้ดี ต้องมีอินทรียวัตถุเพียงพอให้พืชให้ผักเราได้รับธาตุอาหารเต็มที่ เน้นการคลุกในดินตั้งแต่ตอนเตรียมดินจะดีที่สุด เพื่อนๆ บางท่านใช้วิธีนำมาโรยหลังจากต้นผักกาดหอมงอกแล้ว ซึ่งไม่ได้ผลดีเท่ากับการคลุกไปในดิน เพราะการคลุกไปในดินนั้น รากของผักกาดหอมจะดูดซึมธาตุอาหารได้ดีกว่าครับ ส่วนใหญ่การปลูกรอบแรกจะไม่ค่อยได้ผลดีเท่าที่ควรครับ เพราะอินทรียวัตถุในดินอาจยังไม่เพียงพอ พอรอบ 2 รอบ 3 จะเริ่มดีขึ้นได้ใบใหญ่ขึ้นเพราะเริ่มมีอินทรียวัตถุสะสมเพียงพอ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook