สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

กะหล่ำปลี ปลูกตามวิถีเกษตรอินทรีย์ ทางออกแห่งอนาคตที่ยั่งยืน

กะหล่ำปลี เป็นพืชผักสวนครัวชนิดหนึ่ง ที่คนทั่วไปนิยมกินกันมากเป็นอันดับต้นๆ เพราะเมื่อใช้ปรุงเป็นอาหารแล้วมีรสชาติหวาน กรอบอร่อย ไม่ขม นอกจากนี้ยังใช้ทำอาหารได้สารพัดชนิดทั้งอาหารฝรั่ง ไทย จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ ทำให้กะหล่ำปลี เป็นผักที่มีตลาดต้องการอยู่ตลอดเวลา หาซื้อง่าย มีราคาไม่แพง เพราะมีเกษตรกรที่ปลูกกะหล่ำปลีเชิงการค้า ป้อนตลาดอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีอายุการปลูกสั้น ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก็เก็บเกี่ยวได้ ทำให้มีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดได้เกือบตลอดทั้งปี

ธรรมชาติของกะหล่ำปลีนั้น ต้องการอากาศหนาวเย็น ซึ่งทำให้เจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ ใบกะหล่ำจะห่อตัวซ้อนกันจนอวบแน่น มีขนาดใหญ่ และน้ำหนักดี ต่อมาได้มีการพัฒนากะหล่ำปลีพันธุ์เบาขึ้นมา เพื่อให้เจริญเติบโตในอากาศร้อนได้ แต่ความสมบูรณ์ ขนาด และน้ำหนัก ก็จะลดน้อยลงไปตามสภาพอากาศ ดังนั้นการเลือกปลูกในแหล่งที่มีอากาศเย็น จะได้ผลดีมากกว่าการปลูกในแหล่งที่มีอากาศร้อน

กะหล่ำปลีเป็นพืชผักที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ควรเลือกซื้อสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก การปลูกกะหล่ำปลี มีความยากในการดูแลบำรุงรักษา ผู้ปลูกควรมีความรู้โดยละเอียด หรือมีประสบการณ์โดยตรง ในอดีตการปลูกกะหล่ำปลีเชิงการค้าในปริมาณมาก เกษตรกรจำเป็นต้องคอยควบคุมป้องกันไม่ให้โรคหรือแมลงเข้ามาแพร่ระบาด เพราะกะหล่ำปลีเป็นผักที่มีลักษณะอวบน้ำ จึงมีเชื้อโรคและแมลงศัตรูเข้าทำลายได้ง่าย เช่น โรคใบจุด รากเน่า ราน้ำค้าง โรคเน่าดำ เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วจำเป็นต้องใช้สารเคมีเข้ามาควบคุมให้เด็ดขาดก่อนที่จะเกิดปัญหา ทำให้ในอดีต กะหล่ำปลี เคยได้ชื่อว่าเป็นผักที่ตรวจพบสารเคมี ปนเปื้อนติดอันดับต้นๆ ซึ่งสารเคมีถือเป็นปัจจุัยการเกษตรที่ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นมาก จนอาจจะทำให้ต้องขาดทุนได้ โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตล้นตลาด ซึ่งราคารับซื้อต่ำจนไม่คุ้มทุน

ปัจจุบันมีเพื่อนๆ เกษตรกรผู้ปลูกกะหล่ำปลีหลายรายปรับรูปแบบมาเป็นเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น เพราะภาครัฐมีนโยบายเร่งให้การสนับสนุนองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างกระบวนการผลิตพืชอาหารปลอดภัย เลิกพึ่งพาสารเคมี หันมาใช้สารชีวภาพจากจุลินทรีย์ หรือน้ำหมักสมุนไพรพื้นบ้านแทนในการบำรุงป้องกันหรือควบคุมโรคและแมลงศัตรูต่างๆ ซึ่งเป็นวิถีธรรมชาติ ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพมากกว่า ทั้งต่อผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเอง ซึ่งความเป็นอาหารปลอดภัยนั้น เป็นกระแสโลก ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากในทุกวันนี้ และในอนาคต เกิดความตื่นตัวและหันมาใส่ใจในอาหารการกินของตัวเอง ต้องการเลือกซื้ออาหาร และพืชผักที่ปลอดสารเคมี แม้จะดูไม่สวยงามน่ากินและมีราคาสูงกว่าก็ตาม ทำให้เกษตรกรที่เพาะปลูกตามวิถีเกษตรอินทรีย์ สามารสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น 2 ทางจากราคาขายที่เป็นธรรม และจากต้นทุนที่ลดลงเพราะเลิกใช้สารเคมี

สำหรับเพื่อนๆเกษตรกรที่สนใจปลูกกะหล่ำปลี เพราะเห็นว่าอายุเก็บเกี่ยวสั้น ขอแนะนำให้ทดลองปลูกแบบอินทรีย์ เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ 1-2 งาน เพื่อหาประสบการณ์ ในการดูแลกะหล่ำปลีก่อน ซึ่งเสียเวลาไม่นาน และควรเข้าอบรมการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ เรียนรู้เรื่องน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งได้ประโยชน์มาก คุ้มค่ากับอนาคตอันยั่งยืนที่จะตามมาเลยล่ะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook