ผักตบชวา ตามสายตาของคนทั่วไป อาจมองเพียงด้านเดียวว่าวัชพืชตัวร้ายที่สร้างปัญหาให้กับแหล่งน้ำสาธารณะต่าง ๆ เป็นตัวกั้นขวางการไหลของน้ำ กีดขวางการจราจรทางน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินต้องคอยขุดลอกอยู่เสมอ เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำหน้าประตูระบายน้ำต่างๆ จนเป็นเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำ และสร้างปัญหาทำให้ระบบชลประทานของบ้านเรา ขาดประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ผักตบชวา เป็นพืชน้ำมีลำต้นเป็นไหล มีก้านใบเป็นโพรงอากาศอวบน้ำ พยุงให้ลอยน้ำได้ มีใบเลี้ยงเดี่ยวรูปไข่สีเขียวสด ดอกมีสีม่วงหรือสีชมพูอมฟ้า มีผลเป็นรูปทรงกระบอก มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก แม้ลำต้นจะตายแต่เมล็ดก็ยังมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 15 ปี ถ้าเมล็ดได้รับน้ำเพียงพอก็จะแตกไหลเป็นต้นใหม่ต่อไป แต่โดยมากจะขยายพันธุ์ด้วยการแตกไหลของลำต้น จากการศึกษาพบว่าผักตบชวา 2 ต้น จะแตกไหลเป็นต้นใหม่ได้ 30 ต้น ภายใน 20 วัน หรือ ผักตบชวาเพียง 10 ต้น จะเพิ่มเป็น 1 ล้านต้น ภายในเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งตลอดช่วงเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐ ได้แก้ไขปัญหาผักตบชวามาโดยตลอดทุกๆ ปี แม้จะมีการวิจัยใหม่ๆ เพื่อหาทางกำจัดหรือนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมายก็ตาม แต่ก็ได้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะธรรมชาติการแพร่พันธุ์ของผักตบชวานั้นเป็นอุปสรรคสำคัญ
อย่างไรก็ดีเพื่อนๆ เกษตรกรที่ทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งมีการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด ร่วมไป กับการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ ในพื้นที่เดียวกัน สามารถนำผลการวิจัยที่เป็นประโยชน์จาก ผักตบชวา มาใช้ต่อยอดสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมาย อย่างใกล้ตัวที่สุดคือการใช้ผักตบชวามาทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด หรือใช้ทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้บำรุงพืช ตามวิถีอินทรีย์ ซึ่งมีความปลอดภัยและช่วยลดต้นทุน นอกจากทำปุ๋ยแล้ว ยังนำมาใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ได้อีกหลายรูปแบบ เช่น ในแบบพืชสด โดยนำมาหั่นซอย ผสมปลายข้าว และเศษอาหารสำหรับใช้เลี้ยงสุกร เป็นต้น หรือในแบบตากแห้ง นำมาป่นเพื่อใช้แทนรำ ในการเลี้ยงห่าน หรือให้เสริมไปกับอาหารผสมของไก่รุ่นกระทง รวมไปถึงการทำผักตบชวาหมัก เพื่อเป็นอาหารหยาบให้แก่สัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างโค กระบือ แกะ แพะ เพื่อช่วยลดต้นทุน ช่วยให้สัตว์เลี้ยงเจริญอาหาร นอกจากนี้ผักตบชวา ยังนำไปใช้ในการเพาะเห็ดฟาง โดยการใช้แทนฟาง หรือใช้เป็นอาหารเสริมให้แก่เห็ดฟาง แทนการใช้รำได้อีกด้วย
ผักตบชวา เป็นวัชพืชไม่มีใครต้องการ การนำมาใช้ประโยชน์นั้นจึงมีแค่ต้นทุนแรงงานในการเก็บจากแหล่งน้ำต่างๆ เท่านั้น แต่หากปลูกเลี้ยงในบ่อน้ำภายในพื้นที่ของตัวเอง ผักตบชวาก็ไม่ต้องใช้เงินในการปลูกเลี้ยงแม้แต่บาทเดียว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการควบคุมจำนวนให้พอดีกับการใช้งานเท่านั้นเองครับ