สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

คางคก ท้าวแสนปม สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก

คางคกเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกบ แต่มีจุดแตกต่างที่ชัดเจนคือผิวหนังที่เป็นตะปุ่มตะป่ำ นอกจากดูไม่สวยงามแล้วยังซ่อนพิษมากมายไว้ที่ผิวหนัง คางคกเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ที่เรารู้จักและพบเห็นกันบ่อยที่สุดคือคางคกบ้าน ที่มีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ พบได้ในประเทศแถบเอเชีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกจังหวัด บริเวณผิวหนังของคางคกบ้านจะมีปุ่มปกคลุมทั่วลำตัว ซึ่งตุ่มเหลี้จะมีหนามเล็กๆ อยู่ โดยจะมีตุ่มขนาดใหญ่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างหัวและลำตัวที่เป็นศูนย์รวมต่อมพิษขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก และต่อมพิษยังกระจายไปทั่วในแต่ละตุ่มบนผิวหนัง

สารพิษในต่อมพิษที่อยู่ในตุ่มบนผิวหนังคางคกจะมีลักษณะเป็นยางเหนียวสีขาวข้นที่เราเรียกกันว่า “ยางคางคก”  มีกลิ่นแรง และเป็นพิษ หากเราเผลอไปจับโดนอาจจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนในทันที ซึ่งความเป็นพิษนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณที่เราได้รับ แต่หากเป็นสัตว์เลี้ยงของเราที่เผลอไปกัดกินคางคกเข้า อาจจะได้รับพิษเยอะถึงขั้นตายได้

ลักษณะของคางคก จะมีลำตัวยาว 10 เซนติเมตร ผิวหนังมีตุ่มกระจายทั่ว ยกเว้นบริเวณท้องที่มีผิวหยาบเท่านั้น ตุ่มมีส่วนยอดเป็นสีดำ ลำตัวมีสีดำผสมน้ำตาล ขาสั้น คางคกตัวเมียจะมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวผู้ และจะสังเกตได้ว่าคางคกตัวผู้จะเกาะบนหลังตัวเมียเมื่อสืบพันธุ์  ลูกคางคกตัวอ่อนถูกเรียกว่า “ลูกอ๊อด” ตัวเล็กสีดำขลับ ลำตัวกลมมน หางยาวเรียว พฤติกรรมชอบออกหากินตอนกลางคืนในพื้นทีเดิมๆ ไม่ยอมย้ายหลักแหล่ง ยกเว้นช่วงผสมพันธุ์ที่จะหาแหล่งน้ำเพื่อวางไข่ แม้ว่าคางคกจะมีขากระโดด แต่กลับไม่ชอบกระโดด จึงค่อยๆ เดินเข้าไปกินแมลงที่เป็นอาหารในเวลากลางคืน เพราะสายตาของคางคกจะเห็นได้ชัดในตอนกลางคืน จึงมีความได้เปรียบในการล่าเหยื่อที่เป็นตัวหนอนและแมลง เพียงใช้ลิ้นตวัดก็ได้เหยื่อเข้าปากโดยง่ายดาย ส่วนเวลากลางวันนั้นคางคกจะแอบซ่อนตัวอยู่บริเวณที่มีความชื้นแฉะ เช่น บริเวณซอกหิน หรือใต้โคนไม้ โพรงดิน เป็นต้น

แม้ว่าคางคกจะมีพิษ แต่ก็มีประโยชน์ที่เราอาจจะคาดไม่ถึง เช่น การนำเนื้อคางคกมารับประทาน โดยก่อนที่จะนำมาปรุงนั้นจะต้องมีการจัดการขจัดต่อมพิษต่างๆ ออกก่อน ส่วนยางคางคกสามารถนำมาใช้ทารักษาโรคผิวหนังและรักษาการติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้ ใช้เป็นยาชา ยาแก้ปวด ไปจนกระทั่งใช้เป็นยาเพิ่มความกำหนัด เสริมสมรรถภาพทางเพศ ตามตำรายาจีนแผนโบราณนำพิษคางคกมาบำรุงหัวใจ บำรุงกระเพาะปัสสาวะ รักษาไซนัส และยังนำหนังคางคกมาปรุงยาได้อีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook