เพลี้ยไฟ แมลงที่มีอยู่ในระบบนิเวศ มีประโยชน์ในการช่วยผสมเกสรพืชผลบางชนิดเช่น ปาล์มน้ำมันและมังคุด และยังเป็นตัวห้ำที่ช่วยทำลายไรบางชนิด แต่ผลกระทบในแง่ของการทำลายต่อพืชผลทางการเกษตรนั้นกลับมีไม่น้อยทีเดียว เพราะสามารถเข้าทำลายทั้งไม้ดอก ไม้ผล ธัญพืช พืชสวน พืชไร่ ได้ทุกชนิด สร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตต่างๆ มาแล้วมากมาย จนกลายเป็นแมลงศัตรูพืชตัวฉกาจของเพื่อนๆ เกษตรกรกันเลยครับ
เพลี้ยไฟ เป็นแมลงตัวจิ๋วที่มีกรามข้างเดียวคือด้านซ้าย มีทั้งเพลี้ยไฟแบบมีปีก และไม่มีปีก ชนิดที่มีปีกส่วนใหญ่มีปีก 2 คู่ ขอบปีกมีขนละเอียดปกคลุม เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่บินไม่ชำนาญ แต่สามารถลอยตามลมได้ไกล จึงเป็นเหตุให้เกิดการระบาดที่มีวงกว้างและลุกลามไว เพลี้ยชนิดนี้ยังเป็นพาหะโรคพืช และยังสามารถทำลายพืชได้เกือบทุกชนิด
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟจะเข้าทำลายพืชผลด้วยการใช้ปากเขี่ยดูดและกรามด้านซ้ายเจาะผิวของส่วนต่างๆของผลผลิตให้เป็นแผลช้ำ เพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงเซลล์พืช เช่น ยอดอ่อน ดอก ใบ ผล แต่มักจะเข้าทำลายใบอ่อน ทำให้พืชหยุดการเติบโต แต่หากเพลี้ยเข้าไปกัดกินช่อ จะทำให้ช่อเหี่ยวร่วง จนอาจทำให้พืชตายลงได้ และมูลของเพลี้ยไฟที่หยดลงบนพืชผลจะทำให้ผลผลิตมีรอยด่างและขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควรอีกด้วย เพลี้ยชนิดนี้จะแพร่พันธุ์ได้ดีในช่วงที่มีอากาศร้อน และจะลดจำนวนลงเมื่อเข้าสู้ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
การกำจัดเพลี้ยไฟแต่เดิมจะใช้การกำจัดด้วยสารเคมี แม้ว่าจะเห็นผลทันใจแต่กลับก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีการพัฒนาไปสู่การกำจัดด้วยวิธีกล โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ไม่ยาก เช่น การใช้กาวดักเพลี้ยไฟติดตั้งไว้ในสวนที่มีเพลี้ยไฟระบาด รวมไปถึงการปลูกพืชหมุนเวียน ไถพรวนดินก่อนการปลูกทุกครั้งเพื่อฆ่าตัวอ่อนและไข่เพลี้ยในดิน และยังมีการกำจัดโดยชีววิธี เช่น การใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน แมลงช้างปีกใส และจุลินทรีย์มากำจัดเพลี้ยไฟ เชื้อจุลินทรีย์ที่นิยมนำมาทำลายเพลี้ยไฟ ได้แก่ เชื้อราขาว ที่เป็นเชื้อราปฏิปักษ์
วิธีการใช้เชื้อราขาวเพื่อควบคุมเพลี้ยไฟนั้น วิธีที่เห็นผลเร็วที่สุดคือการใช้เครื่องพ่นยาฉีดพ่นเชื้อราขาวในแปลงผลผลิตสม่ำเสมอ แม้ว่าจะทำให้เชื้อไฟตายช้ากว่าสารเคมี แต่ข้อเด่นคือไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ฉีดพ่นและผู้บริโภค ดังนั้นหากเรานำวิธีฉีดพ่นเชื้อราขาวมาใช้ร่วมกับการใช้กาวดักแมลง จะสามารถควบคุมเพลี้ยไฟได้ดีขึ้นครับ