เบญจมาศ เป็นดอกไม้ที่ถือว่าเป็นดอกไม้เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของโลก ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจนติดอยู่ 1ใน 5 อันดับแรก เเพราะดอกมีสีสันสดใสและมีรูปทรงที่หลากหลายสวยงาม อีกทั้งยังทนทานต่อการขนส่งและทนต่อการนำไปใช้งาน โดยไม่เหี่ยวเฉารวดเร็วจนร่วงโรยเสียหายไปง่ายๆ เกษตรกรในต่างประเทศนิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกขาย หรือปลูกในกระถาง จึงเหมาะสำหรับนำไปทำเป็นช่อดอกไม้ ปักแจกัน หรือนำไปประดับตกแต่งสถานที่ในงานเทศกาลรวมถึงงานพิธีการต่างๆ
เบญจมาศ สายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นไม้เมืองหนาว มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนและญี่ปุ่น เป็นไม้เนื้ออ่อน มีความสูง 75-80 เซนติเมตร ตามกิ่งก้านและลำต้นมีขนละเอียด ใบเรียวรีขอบใบหยัก โดยทั่วไปเบญจมาศจะมีดอก 2 ชั้น คือดอกชั้นนอกเป็นดอกเพศเมีย และดอกชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ส่วนรายละเอียดอื่นของดอกทั้งสีสัน ขนาดและรูปทรงนั้น ไม่สามารถระบุชัดเจนได้เลย เพราะดอกของแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ ธรรมชาติต้นเบญจมาศจะมีอายุข้ามปี แต่การปลูกเชิงการค้านิยมปลูกเป็นไม้ล้มลุกอายุสั้น 90-150 วัน เมื่อตัดดอกแล้วจะไถดินกลบทิ้งเพื่อเริ่มปลูกใหม่ หรือปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนทดแทน
เบญจมาศ ถูกนำมาปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อผลทางการค้า ทำให้มีสายพันธุ์ใหม่ๆออกมามากมายหลายร้อยสายพันธุ์ รวมไปถึงสายพันธุ์ที่ปลูกในประเทศเขตร้อนได้ ทำให้มีการแพร่กระจายการปลูกไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งการปลูกเบญจมาศเชิงการค้าของเกษตรกรในบ้านเรามีหลายรูปแบบ มีทั้งเพาะปลูกเพื่อตัดดอกขาย การขายเป็นไม้กระถาง หรือขายต้นพันธุ์สำหรับไปปลูกตกแต่งสวน รวมทั้งปลูกเพื่อรับการท่องเที่ยว โดยมีแหล่งปลูกกระจายอยู่ในจังหวัดที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น เพราะพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นจะให้ผลผลิตดอกที่สมบูรณ์ดีกว่าในพื้นที่อากาศร้อน
การปลูกเบญจมาศของประเทศไทย ในปี 2563 จากข้อมูลทะเบียนเกษตรกร พบว่า มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 1,138.38 ไร่ โดยเกษตรกรนิยมปลูกแบบดอกช่อขาย มากกว่าแบบตัดดอกเดี่ยว เนื่องจากดูแลรักษาง่ายกว่าและเป็นที่ต้องการของตลาด สีดอกที่ปลูกกันทั่วไป คือ สีขาว เหลือง และม่วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดิมที่เพาะปลูกกันมานานนับ 10 ปีแล้ว ส่วนพันธุ์ใหม่ที่มีสีสันแปลกตาโครงสร้างดอกสวยงาม มักเป็นพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีลิขสิทธิ์พันธุ์พืชไม่สามารถนำมาขยายพันธุ์ต่อได้หากไม่ได้รับอนุญาต ทำให้สายพันธุ์เบญจมาศที่เป็นของบ้านเราเองไม่มีความหลากหลายมากนัก เนื่องจากมีแต่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่พยามค้นคว้าวิจัยพัฒนาสายพันธุ์เบญจมาศใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกร ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปีในการพัฒนา และในเวลานี้ก็มีเบญจมาศสายพันธุ์ใหม่ 5 สายพันธุ์ ที่คิดค้นโดยนักวิจัยไทย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นปลูกทดสอบและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม สำหรับการปลูกในแต่ละพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกเบญจมาศที่สำคัญของประเทศ เพื่อพัฒนาให้วงการผลิตดอกเบญจมาศของเรามีพันธุ์ให้เลือกหลากหลายขึ้นครับ