โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ สิ่งสำคัญในการทำปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มสุกร ฟาร์มโคนทโคเนื้อ ฟาร์มไก่ หรือฟาร์มจิ้งหรีดก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่เราจะนิยมสร้างโรงเรือนระบบเปิด เพราะลงทุนด้วยเงินไม่สูงมากนัก ระบายอากาศได้ดี แต่การสร้างโรงเรือนระบบเปิดนี้จะทำให้การควบคุมอุณหภูมิเป็นไปได้ยากปัจจุบันการทำฟาร์มขนาดใหญ่หลายแห่งจึงหันมาใช้การทำโรงเรือนแบบปิด ที่นอกจากจะช่วยเรื่องการควบคุมสภาพอากาศแล้ว ยังควบคุมเรื่องของโรคและแมลงศัตรูสัตว์ได้ด้วย
การสร้างโรงเรือนระบบปิดนั้นไม่ได้มีความวุ่นวายอย่างที่เราคิด ขนาดของโรงเรือนก็ใช้แบบโรงเรือนมาตรฐานทั่วไปที่เราสร้างกัน คือ มีขนาดความกว้าง*ความยาว ที่ 12*120 เมตร ใช้เหล็กฉากเป็นโครงสร้าง คลุมหลังคาสังกะสีอาบกัลป์วาไนซ์ บุฉนวนกันร้อนด้านล่างและบุพลาสติกทับด้านล่างอีกครั้ง แล้วติดแผ่นดักลมห่างกัน 12เมตร ก่ออิฐทุกด้าน โดยให้มีหน้าต่างเพียง 2 ด้านเท่านั้น ส่วนด้านหน้าและด้านหลังโรงเรือนให้ปิดทึบ บริเวณหน้าต่างทั้ง 2 ข้างให้ติดตั้งม่านพลาสติกและตาข่ายกันแมลง และติดตั้งพัดลมทั้งหมดไว้ที่ด้านหลังสุดของโรงเรือน
ช่วงแรกๆ เราจะได้ยินว่าโรงเรือนแบบปิดนิยมใช้กับการเลี้ยงไก่ในฟาร์มใหญ่ ที่ทำให้เลี้ยงไก่ได้มากขึ้นในพื้นที่ขนาดเท่ากัน ค่ายาและค่าอาหารไก่ลดลง อัตรารอดของไก่เพิ่มขึ้น ไก่ได้ขนาดที่สมบูรณ์พร้อมขายเร็วขึ้นถึง 1 สัปดาห์ ทำให้ได้จำนวนรอบการผลิตต่อปีเพิ่มมากขึ้น จนมีฟาร์มสุกรเริ่มใช้ระบบโรงเรือนแบบนี้กันมากขึ้น เพื่อให้ได้อัตราการผลิตที่ดีขึ้นกว่าโรงเรือนแบบเปิดทำให้ได้กำไรเพิ่มมากขึ้น แต่โรงเรือนแบบปิดก็มีข้อด้อยที่เราต้องพิจารณาให้ดีก่อนที่จะวางแผนปลูกสร้าง เรื่องสำคัญที่สุดคือ เรื่องของต้นทุนการก่อสร้างที่สูง และเป็นระบบที่เราต้องทำความเข้าใจกระบวนการทำงานอย่างลึกซึ้ง และต้องใส่ใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัยในโรงเรือนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษกว่าโรงเรือนแบบเปิด ที่มีอากาศถ่ายเทง่ายกว่า และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมากกว่าโรงเรือนแบบดั้งเดิม ดังนั้นหากเราคิดจะทำโรงเรือนแบบปิดแล้วนั้น พันธุ์สัตว์ที่เราจะนำมาเลี้ยง จะต้องมีราคาขายที่สูงเพียงพอที่เราจะได้เม็ดเงินมาชำระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าสาธารณูปโภคได้ และเราต้องมีทีมงานที่คอยดูแลระบบได้อย่างดี เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดไฟดับหรือน้ำขาดแคลนอาจจะทำให้โรงเรือนที่เราลงทุนไปไม่สามารถทำงานได้ สัตว์ที่เลี้ยงไว้อาจจะเกิดความเสียหายได้นะครับ ในทุกทางเลือกมีข้อดีและข้อเสีย ขอให้เราทบทวนว่าตัวเลือกไหนเหมาะสมกับเราที่สุดนะครับ