มะขามแขก พืชที่พบเจอได้ทั่วไปในบ้านเรานั้นมีถิ่นกำเนิดมาจากในประเทศแถบอัฟริกา ได้แก่ ประเทศซูดานและโซมาลิแลนด์ แต่กลับพบมากในภาคใต้ของประเทศอินเดียซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นเหมาะกับที่จะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของพืชมะขามแขก ต่อมาก็ได้มีการนำพืชมะขามแขกเข้ามาปลูกกันในไทยกันมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะนำมาปลูกวิจัยเพื่อนำไปทำเป็นยาสมุนไพรใช้รักษาโรคต่าง ๆ เพราะมีสรรพคุณในการรักษาโรค
โดยเฉพาส่วนใบและฝักที่มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ จึงถูกนำใช้รักษาอาการท้องผูก และบรรเทาโรคริดสีดวงทวาร ในผู้ใหญ่หรือเด็กที่มายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยนำมาแปรรูปผลิตเป็นยาในรูปแบบยาแคปซูล ชา และยาชง หากเพื่อนๆ เกษตรกรคนไหนอยากหันมาปลูกพืชสมุนไพรเพื่อการแปรรูปหรือส่งออกไปยังประเทศเยอรมันก็สามารถทำได้ เพราะไทยเรามีโครงการร่วมมือกันกับประเทศเยอรมันในการผลิตมะขามแขกครับ
มะขามแขก เป็นไม้ทรงพุ่ม สูง 50-100 เซนติเมตร มีก้านใบยาวเรียวสีเขียวอ่อน และมีใบสีเขียวเข้ม กลิ่นใบฉุน หากนำมาเคี้ยวจะมีรสเปรี้ยวปนหวาน ให้ดอกสีเหลืองอ่อนหลายดอกกระจุกอยู่เป็นก้อนบริเวณซอกใบ รวมตัวกันจนเห็นเป็นดอกสีเหลืองดอกใหญ่ เมื่อดอกแก่ก็จะกลายไปเป็นเมล็ดอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว คล้ายเมล็ดถั่วลันเตา แต่จะมีลักษณะแบนกว่า เมื่อแก่เมล็ดจะกลายเป็นสีดำและร่วงโรยลงดินเพื่อแพร่พันธุ์ต่อไป
มะขามแขกเป็นพืชที่ชอบขึ้นในสภาพอากาศร้อนชื้น ปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย ไม่มีน้ำขัง การปลูกมะขามแขกสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีโดยการหว่านเมล็ด และนำต้นกล้ามาเพาะพันธุ์ปลูกลงดินก็ได้ วิธีการปลูกให้นำดินร่วนผสมดินทรายในอัตราส่วนที่พอเหมาะและนำปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยหมักคลุกเคล้าให้เข้ากันจากนั้นก็นำใส่กระบะเพาะพันธุ์พืชหรือถุงเพาะชำก็ได้ ก่อนที่จะนำเมล็ดมาหว่านหรือหยอดลงไปในกระบะ สำหรับการเตรียมเมล็ดนั้น ให้เรานำเมล็ดที่ได้จากฝักแก่มาตากแดด 2 วัน ก่อนที่จะนำไปหว่าน
หากเป็นการนำต้นกล้ามาปลูก สามารถปลูกลงแปลงได้เลยครับ แต่ถ้าเป็นการเพาะเมล็ดให้เริ่มดูแลเมล็ดพันธุ์มะขามแขกโดยการรดน้ำทุกวัน วางพืชในบริเวณที่ไม่โดนแสงแดดจัดตลอดเวลา เมื่อมะขามแขกเริ่มแตกหน่อออกเป็นต้นกล้าแล้ว ให้ย้ายลงปลูกในแปลงหรือในกระถาง หลังจากต้นกล้าแข็งแรงอาจจะเว้นช่วงการรดน้ำได้ เพราะมะขามแขกนั้นทนแล้งได้ดีเลยครับ
การเก็บเกี่ยวผลผลิตจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือสำหรับช่วงเก็บใบแก่จะทำในช่วง 50 วันหลังการปลูก ให้เรานำใบที่รูดออกจากกิ่งแล้วผึ่งแดดไว้ราว 4-5 วัน เพื่อให้ใบแห้งป้องกันการเกิดเชื้อรา ส่วนการเก็บเกี่ยวผลมะขามแขกนั้นให้เก็บหลังจากแตกผลประมาณ 20 วัน แล้วนำมาผึ่งลมในที่ร่ม 2 วัน ก่อนที่จะย้ายไปผึ่งแดด 1 วัน ก่อนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป