ดอกคำฝอย เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในแถบตะวันออกกลาง ประเทศจีน อัฟริกา และรัสเซีย จึงไม่สามารถระบุแหล่งกำเนิดที่ชัดเจนได้ และในปัจจุบันมีการปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหนาวและแห้งแล้ง ในบ้านเรานั้นนิยมปลูกดอกคำฝอยในภาคเหนือ เพราะมีสภาพอากาศเหมาะกับการปลูกดอกคำฝอย
ดอกคำฝอยถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการสกัดนำมาสกัดสีเพื่อผลิตเนยแข็งในประเทศรัสเซีย ส่วนในประเทศฝรั่งเศสนำสีจากดอกคำฝอยมาผสมกับแป้งทาหน้า ในสเปนใช้สีของดอกคำฝอยในการผลิตถ้วยจาน ส่วนในแถบเอเชียเรานั้นได้นำพืชชนิดนี้มาใช้บริโภค เช่นชาวอินเดียนำดอกคำฝอยมาผสมในข้าวและขนมปังเพื่อให้มีสีสรรน่ารับประทาน และนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสำหรับสตรีมีครรภ์เพื่อให้ครรภ์แข็งแรง และบำรุงการมีบุตร
ในปัจจุบันมีการใช้น้ำมันของดอกคำฝอยเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องใช้ต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม และยังนำดอกคำฝอยมาสกัดมาเป็นอาหารเสริมเวชสำอาง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ทั้งยังใช้บำรุงเส้นผมและเสริมสุขภาพ และที่สำคัญดอกคำฝอยยังสามารถใช้หมักทำเป็นปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยธรรมชาติให้แร่ธาตุกับพืชพรรณชนิดอื่นได้ด้วยครับ
ต้นดอกคำฝอยเป็นพืชล้มลุก เนื้ออ่อน ต้นสูงประมาร 3-4 ฟุต มีใบหนาแข็ง คล้ายใบดอกกรรณิการ์ ขอบใบหยักคล้ายจักรแหลมคม ให้ดอกสีเหลือง กลีบดอกคล้ายดอกดาวเรือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกแรกเริ่มบานจะมีสีเหลืองอ่อน เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นก็จะเปลี่ยนเป็นสีส้มจากนั้นก็จะกลายเป็นสีแดง ดอกคำฝอยจะให้เมล็ดสีขาวอมเทาผิวเรียบ โดยดอกหนึ่งสามารถให้เมล็ดได้ถึง 100 กว่าเมล็ด
ไม้ดอกชนิดนี้ชอบขึ้นในที่อากาศหนาวเย็น ชอบดินร่วนซุยที่น้ำไม่ขัง การปลูกดอกคำฝอยสามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด โดยเพื่อนๆชาวเกษตรกรสามารถเลือกได้ว่า จะเพาะเมล็ดลงในแปลง หรือ จะเพาะลงในถุงเพาะชำเพื่อดูแลให้ต้นเริ่มแตกหน่อ ก่อนที่จะย้ายลงปลูกก็ได้ครับ โดยดอกคำฝอยจะชอบดินร่วน และมักขึ้นได้ดีในสภาพอากาศหนาว ไม่มีน้ำท่วมขัง หากปลูกลงในแปลงก็ควรไถกลบ และตากดิน เพื่อกำจัดวัชพืชเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นจึงค่อยหว่านเมล็ดลงในแปลง โดยจะใช้เมล็ดในการปลูกประมาณ 2 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ หากปลูกเป็นแถว ก็ให้เว้นระยะระหว่างแถว และระหว่างต้น ประมาณ 40 ถึง 60 เซนติเมตร แต่ถ้าหากปลูกเพาะลงถุงเพาะชำ ก็ให้นำดินร่วนผสมกับแกลบดำ และปุ๋ยคอก ก่อนที่จะนำเมล็ดลงในถุงประมาณ 3-4 เมล็ด จากนั้นก็หมั่นดูแลรดน้ำทุกวันและรอระยะเวลาประมาณ 200 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วนะครับ