ต้นยาง คือต้นไม้ที่ให้ผลผลิตเป็นยางพารา เป็นต้นไม้สูงใหญ่ อายุหลายปี เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น ที่อย่างน้อยควรมีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่าปีละ 1,000 มิลลิเมตร แต่จะให้ดีควรมีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 2,000 มิลลิเมตรจึงจะให้ผลผลิตดีตลอดทั้งปี
ลักษณะของต้นยาง จะมีเปลือก 2 ชั้น แบ่งเป็นเปลือกนอกประมาณ 70-80% และเปลือกชั้นใน โดยเปลือกชั้นนอกจะมีเนื้อเปลือกแข็ง ส่วนเปลือกชั้นในนั้นจะอ่อน ประกอบด้วยท่อน้ำยางจำนวนมากเป็นพื้นที่ที่อยู่ชิดกับเนื้อเยื่อเจริญที่สร้างท่อน้ำยางได้ใหม่เสมอ ส่วนของเนื้อเยื่อนั้นสามารถแบ่งตัวเนื้อเยื่อให้เจริญออกไปเป็นเปลือกไม้แทนเปลือกเดิมที่โดนกรีดแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังสามารถแบ่งตัวเข้าไปเป็นเนื้อไม้ได้อีกด้วย ในส่วนของเนื้อไม้ต้นยางนั้น มีความสำคัญในการดูดซึมส่งน้ำจากรากไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของลำต้น โดยไม่ปรากฏท่อน้ำยางในส่วนของเนื้อไม้ เพราะท่อน้ำยางจะอยู่เป็นวงรอบลำต้น แต่ละวงจะของท่อน้ำยางจะไม่เชื่อมต่อกัน ซึ่งจะมีปริมาณมากสุดในเปลือกชั้นใน
ต้นยางนั้นนอกจากให้ผลผลิตออกมาเป็นน้ำยางสดและขี้ยางแล้ว ยังสามารถนำไม้ยางในส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ไม้ยางขนาดใหญ่ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 20 เซนติเมตร สามารถนำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางได้ ส่วนกิ่งไม้ขนาดเล็กกว่านั้นสามารถนำมาผลิตเป็นไม้ประกอบและส่วนของเศษไม้ ตอไม้นำไปสับเป็นเชื้อเพลิงต่อไป จึงทำให้เพื่อนๆ เกษตรกรปลูกกันอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการปลูกแตกต่างกันไป ด้วยข้อดีที่ว่า ต้นยาง นั้นเป็นพืชที่โตไว ได้ร่มเงาทันใจ
แม้ว่าต้นยางจะโตไว แต่กว่าจะได้ผลผลิตอาจกินเวลาถึง 3 ปีเลยครับ หากเพื่อนๆ เกษตรมือใหม่คิดจะปลูกต้นยางพารา สิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องวางแผนควบคู่คือเรื่องการปลูกพืชทำเงินในช่วงรอผลผลิตแซมต้นยางในช่วง 3 ปีแรก โดยแนวทางการปลูกต่างๆ นั้น ควรมีการเว้นระยะห่างให้เหมาะสม เช่น พืชล้มลุกที่มีอายุไม่ยาวอย่าง ข้าวโพด ถั่วต่างๆ ผักใบ ควรปลูกให้ห่างแนวต้นยาง 1 เมตร แต่หากเป็นกล้วยและมะละกอ สามารถปลูกบนแถวยางได้เลย ส่วนหญ้าต่างๆ ที่อาจจะปลูกแซมเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นอาหารสัตว์นั้นไม่ควรปลูกเลยนะครับ เพราะอาจจะรบกวนต้นยางได้
นอกจากพืชแซมแล้วอาจจะต้องคำนึงถึงพืชร่วม ที่ปลูกแล้วสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเวลาเดียวกันกับยาง โดยเติบโตด้วยสภาพที่เหมาะสมใต้ร่มเงาของต้นยาง เช่น ผักสมุนไพรพื้นบ้านต่างๆ และไม้ประดับ อย่าง ขิง ข่า ดาหลา กระเจียว ที่จะเติบโตได้ดีในแสงแดดรำไร หรืออาจจะเป็นไม้ป่า ก็สามารถนำมาปลูกร่วมได้ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องคำนึงถึงตลาดในพื้นที่ที่รองรับผลผลิตก่อนนะครับ