สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ดอกพลับพลึง พืชสมุนไพรมงคล

ดอกพลับพลึง พืชดอกล้มลุก สามารถพบเจอได้ในธรรมชาติทั่วไป ชอบขึ้นอยู่ตามริมแหล่งน้ำต่างๆ หรือบริเวณน้ำขัง เนื่องจากชอบอยู่ในดินที่มีความชื้นสูง  ยิ่งในดินที่มีแร่ธาตุและสารอาหารอย่างครบถ้วนแล้ว จะทำให้ต้นพลับพลึงเจริญเติบโตออกดอกงอกงามได้สวยงาม ทั้งยังยังให้กลิ่นหอมอบอวลในบริเวณรอบๆ ที่ปลูกอีกด้วย ด้วยกลิ่นหอมของดอกพลับพลึงมี จึงทำให้ชนเผ่าลั๊วะนิยมตัดดอกพลับพลึงไปใช้บูชาพระ นอกจากนี้แล้วดอกพลับพลึงยังเป็นดอกไม้ที่เป็นมงคล ตามความเชื่อโบราณว่าเป็นไม้ดอกที่ช่วยปัดเป่าเรื่องร้ายๆ ออกจากบ้านเรือนที่ได้ปลูกพลับพลึงไว้ ทำให้ยิ่งเพิ่มความนิยมในการปลูกต้นพลับพลึงไว้ในบริเวณบ้านแล้วสวน

นอกจากนี้ต้นดอกพลับพลึงยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายแขนง นับจากเรื่องพื้นๆ คือการนำกาบใบมาใช้เป็นกระทงบรรจุอาหารทั้งคาวและหวานแทนใบตอง หรือนำใบมาหั่นละเอียดโรยในน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อรดน้ำมต์ขับไล่อัปมงคล และที่น่าสนใจที่สุดคือการนำมาใช้ในการแพทย์พื้นบ้าน โดยแต่ละส่วนของต้นดอกพลับพลึงจะถูกนำไปใช้ในการรักษาแต่ละอาการแตกต่างกันไป เช่น

ใบสามารถนำไปอังไฟแล้วประคบศรีษะหรือกล้ามเนื้อต่างๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด ประคบเพื่อลดช้ำ ลดบวมภายนอก หรือจะนำไปใช้เพื่อละลายเสมหะ ลดอาการคลื่นเหียน เป็นยาแก้ท้องผูก แก้ไส้เลื่อน และยังมีตำรับยาแผนโบราณที่นำต้นพลับพลึงไปเข้าตำรับร่วมกับสมุนไพรอื่น เพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษา โดยเฉพาะการใช้ประคบภายนอก เช่น นำไปใช้เป็นลูกประคบโดยมีส่วนผสมร่วมกับ ไพล อบเชย ใบมะขาม เทียนดำ เกลือ เพื่อคลายเส้น อีกด้วย และไม่ใช่เพียงไทยเราที่นำพลับพลึงมาใช้เป็นยาพื้นบ้าน แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ก็นำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคเช่นกันครับ

ดอกพลับพลึง มีลักษณะเป็นกอ ลำต้นเล็ก สีเขียวอ่อน ใบเรียวยาวเป็นกาบสีเขียวเข้ม อวบน้ำ งอกขึ้นรอบๆ ลำต้นเป็นกอ มีรากเป็นหัวฝังลงดิน มีความสูงประมาณ 90-120 เซนติเมตร ดอกมีทั้งสีขาวและสีแดง บ้างก็มีสีอมชมพูขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

การขยายพันธุ์ดอกพลับพลึงสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ขยายพันธุ์โดยการใช้หน่อกับการเพาะเมล็ด พลับพลึงเป็นพืชไม้ดอกที่ชอบแสงแดดรำไร ไม่ชอบแสงที่จ้าจนเกินไป ชอบดินที่มีความชื้นสูงหรือดินที่เคยมีน้ำท่วมขัง หรือจะปลูกในบริเวณริมแม่น้ำก็ได้ครับ หากใช้หน่อในการปลูก ให้เลือกหน่อที่มีใบแทงออกมาเล็กน้อย จากนั้นก็นำปุ๋ยคอกรองก้นกระถางก่อนจะปลูก ส่วนการเพาะเมล็ดแนะนำให้เพาะลงในกระถางหรือระยะเพาะก่อน เมื่อแตกหน่อจึงค่อยย้ายปลูกลงดินปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดรำไร วิธีดูแลก็เพียงหมั่นรดน้ำทุกวันก็เพียงพอแล้วล่ะครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook