แหนแดง ที่เราพบเห็นทั่วไปบริเวณผิวน้ำในนาข้าวและในน้ำขังนั้น เป็นพืชประเภทเฟิร์นขนาดเล็ก ชอบอากาศร้อน สังเคราะห์แสงได้ดี มีธาตุอาหารสูง จึงถูกนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ทั้งปลา เป็ด และสุกร แต่ในปัจจุบันหลังจากที่มีการศึกษาถึงประโยชน์ของแหนแดงกันกว้างขวางขึ้น จึงพบว่าแหนแดงนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์มรการผลิตเป็นปุ๋ยสด ปุ๋ยชีวภาพได้ดี เพราะสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารได้ดี ใช้เวลาในการปลดปล่อยน้อยมาก ตรึงไนโตรเจนจากอากาศแล้วเปลี่ยนรูปให้เป็นสารประกอบในรูปแอมโมเนีย จึงมีไนโตรเจนสูง ทำให้มีคุณสมบัติที่ดีในการผลิตเป็นปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยชีวภาพ เพื่อใช้แทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจน
คุณสมบัติของโพรงที่อยู่ในใบของแหนแดงจะทำหน้าที่ดึงเอาไนโตรเจนจากอากาศมาหล่อเลี้ยงแหนแดงเพื่อให้เติบโตและขยายพันธุ์ ทำให้หลังจากการไถกลบแหนแดงในดินแล้ว ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน แหนแดงจะย่อยตัวเองให้เข้ากับดินและปล่อยธาตุต่างๆ ที่สำคัญออกสู่ดินเข้าสู่รากของพืชอย่างรวดเร็วและพืชสามารถนำไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของส่วนต่างๆ ของพืชต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมวัชพืช เพราะเมื่อแหนแดงแพร่กระจายเต็มผิวน้ำ ทำให้วัชพืชไม่สามารถรับแสงแดดและไม่สามารถเติบโตได้ จึงเป็นควบคุมวัชพืชศัตรูพืชได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับการทำเกษตรอินทรีย์นั้น เพื่อนๆ เกษตรกรสามารถนำแหนแดงตากแห้งที่มีตุไนโตรเจนปริมาณมากกว่าพืชในวงศ์ถั่วต่างๆ มาใช้บำรุงพืชผลแทนปุ๋ยเคมี โดยนำไปผสมคลุกเคล้าในดินเพื่อเร่งการเจริญของกล้าพันธุ์ให้งอกและโตรวดเร็วขึ้น เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่แปลงปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าในอดีตนั้นเราจะนำแหนแดงมาใช้เฉพาะในนาข้าวอย่างเดียวก็ตาม แต่หลังจากมีการศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงพบว่าสามารถนำมาใช้กับพืชผลหลากชนิด ได้แก่ ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม และคะน้าใบ เป็นการลดค่าใช้จ่ายไปในตัวด้วย
การเพาะเลี้ยงแหนแดงเพื่อใช้เป็นปุ๋ยนั้นทำได้ไม่ยาก ด้วยการเพาะพันธุ์ในบ่อดิน หรือในนาข้าว ไม่ต้องใช้น้ำเยอะ เพราะเลี้ยงในบ่อตื้นเพียง 5 เซนติเมตรก็เพียงพอ แต่ต้องมีร่มเงาเพียงพอหรืออาจใช้สแลนคลุมเหนือบ่อก็ได้ วิธีการนำไปใช้ประโยชน์ หากจะใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ต้องทำการหว่านก่อนทำนาประมาณ 3 สัปดาห์ แล้วทำการไถกลบปล่อยให้แหนแดงคายไนโตรเจนในดิน และเมื่อดำนาเสร็จให้หว่านแหนแดงซ้ำอีกครั้งเพื่อกำจัดวัชพืช สำหรับการใช้แหนแดงแห้งในผักใบนั้นให้ใช้แหนแดงแห้งต่อดินในสัดส่วน 20 กรัม / ดิน 1 กิโลกรัม ทดแทนการใช้ปุ๋ยยูเรียครับ
การนำพืชใกล้ตัวที่มีคุณสมบัติดีเหล่านี้มาทดแทนปุ๋ยเคมีนั้น นอกจากจะต้นทุนต่ำ ยังส่งผลดีในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่จะไม่เกิดการปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ และไม่เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของเกษตรกรอย่างพวกเราทุกคนด้วยครับ