ถั่วแขกเป็นไม้ล้มลุกที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป นิยมปลูกไว้บริโภคฝัก นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร เพราะมีโปรตีนและธาตุอาหารที่ประโยชน์แก่ร่างกาย เมนูอาหารไทยส่วนใหญ่จะนำถั่วแขกมาปรุงสุก เช่น ผัดหรือลวก และสามารถนำถั่วแขกไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตถั่วแขกบรรจุกระป๋องและแปรรูปเป็นวุ้นเส้นได้ โดยมีสรรพคุณในการบำรุงผิว ชะลอวัย ซ่อมแซมมวลกระดูก เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นพืชที่ปลูกบำรุงดิน คลุมดินและยังช่วยยึดหน้าดินป้องกันการพังทะลายได้อย่างดีอีกด้วย และยังสามารถใช้ปลูกเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสดและปลูกเป็นพืชหมุนเวียนเพื่อทำให้ดินในแปลงดีขึ้น
ถั่วแขก เป็นไม้ล้มลุกใหัฝักจำนวนมาก มีหลายลักษณะทั้งลำต้นเลื้อย กึ่งเลื้อย และยืนต้น แตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ มีลักษณะลำต้นเล็ก ให้ใบกลมรี สีเขียวเข้ม มีขนปกคลุมอยู่บ้างประปราย ให้ฝักสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดพันธุ์อยู่เป็นจำนวนมาก
การปลูกถั่วแขกสามารถปลูกได้ทุกภาคในบ้านเรา แต่ถั่วแขกจะชื่นชอบสภาพอากาศอบอุ่นที่ไม่ร้อนและหนาวเย็นจนเกินไป จะสามารถทำให้ถั่วแขกเติบโตให้ฝักได้ดีกว่าในสภาพอากาศร้อนชื้น หรือ เย็นจัด นอกจากนี้แล้วความสามารถพิเศษของถั่วแขกก็คือ สามารถเติบโตขึ้นได้ดีในทุกสภาพดิน ไม่ว่าจะเป็นดินทราย ดินร่วนปนทราย ดินร่วน หรือแม้แต่ดินเหนียวเองก็ตาม เป็นพืชถั่วที่ไม่ต้องให้น้ำเยอะหากมีฝนตกก็แทบจะไม่ต้องให้น้ำเลยอีกด้วยครับ โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเราคือถั่วแขกพุ่มพันธุ์โบรคเกอร์ (Broker) สายพันธุ์นี้เรานำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลียที่มีภูมิอากาศใกล้เคียงบ้านเราครับ
การปลูกถั่วแขก สามารถทำได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดพันธุ์ถั่ว โดยทำการไถพรวนแปลงและตากดินไว้เป็นเวลา 14 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช จากนั้นก็นำปุ๋ยคอกปริมาณ 1-2 ตันต่อไร่ มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน เพื่อบำรุงดินให้เหมาะกับเพาะเมล็ดถั่วแขก จากนั้นก็หยอดเมล็ดลงหลุมลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 4-5 เมล็ด และเว้นระยะห่างระหว่างแถว 50×50 เซนติเมตร จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป 7 วัน หากหลุมใดมีเมล็ดงอกออกมาเกิน 2 ต้น ให้เลือกถอนต้นที่ไม่ต้องการออก แต่ถ้าหลุมไหนที่ปลูกไม่มีเมล็ดงอกเลยหรือมีเพียงต้นเดียว ให้ทำการหยอดเมล็ดลงไปปลูกใหม่ในปริมาณเท่าการปลูกครั้งแรกได้เลยครับ จากนั้นก็ทำคานเพื่อให้ถั่วแขกเลื้อยขึ้นบนคาน วิธีดูแลก็หมั่นรดน้ำทุกวัน เพียงเท่านี้ไม่ถึง 3 เดือนก็ได้ผลผลิตถั่วแขกไว้เก็บเกี่ยว นำไปขายและแปรรูปแล้วล่ะครับ