เป็ดไข่ ถูกนำมาเลี้ยงเพื่อให้ผลผลิตแก่เกษตรกรไทยเรามานานแล้ว เพราะเป็ดเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ยิ่งเป็นช่วงหลังฤดูเกี่ยวข้าว เป็ดจะเดินไปหาข้าวที่หล่นบนทุ่งนากินได้เอง ไม่ต้องหาอาหารมาลี้ยงให้ยุ่งยาก ไม่ต้องมีแหล่งน้ำให้เป็ดว่ายเหมือนเป็ดเนื้อ แค่มีน้ำกินก็เพียงพอแล้ว และใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงไม่นานก็ได้ไข่ไว้รับประทานและนำไปขายได้ เลี้ยงได้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย แต่ยิ่งอยู่ใกล้ทะเลจะยิ่งดี เพราะมีซากปลา ซากหอยตามชายหาดให้เป็ดได้กินเป็นอาหาร
เป็ดไข่ ไล่ทุ่ง เป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยการเลี้ยงเป็ดก่อนข้าวพร้อมเกี่ยวประมาณ 1 เดือน เพื่อให้เป็ดเติบโตได้พอเหมาะหลังเก็บเกี่ยว แล้วต้อนเป็ดไข่ที่เราเลี้ยงไว้ ให้ไปที่ทุ่งนาหลังเกี่ยวข้าว เพื่อกินข้าวที่ตกหล่นในนาให้หมดเกลี้ยง เป็นการปศุสัตว์ต้นทุนต่ำแต่มีรายได้ที่ดีกลับคืนมาให้แก่เพื่อนๆ เกษตรกรผู้ทำนา
การเลี้ยงเป็ดไข่ ไม่จำเป็นต้องมีโรงเรือนหรือต้นทุนการผลิตมากมาย และยังสามารถนำมารับประทานได้ทั้งไข่และเนื้อ โดยเป็ดไข่นั้นจะเน้นการให้ผลผลิตไข่เป็นหลัก แม้ขนาดตัวจะเล็กก็ตาม ในไทยเรานิยมเลี้ยงกันอยู่ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์กากีแคมเบลล์ ที่ให้ไข่ดกถึงปีละ 300 ฟองต่อตัว พันธุ์ถัดมาคือพันธุ์อินเดียรันเนอร์ ให้ไข่ฟองใหญ่ ปีละ 200 ฟอง และพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์กากีแคมเบลล์กับพันธุ์พื้นเมืองไทย ที่ได้รับความนิยมนำมาเลี้ยงสูงสุดเพราะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมบ้านเรา ให้ไข่ดกถึงปีละ 260 ฟอง และยังให้เนื้อมากอีกด้วย
การเลี้ยงเป็ดเพื่อหวังผลเป็นธุรกิจขายไข่เป็ดนั้น นอกจากจะเลี้ยงตามวิถีเดิมๆ แล้ว ยังมีการเลี้ยงในระบบโรงเรือนแบบปิดขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการ โดยหากเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งและปล่อยลาน จะปล่อยให้เป็ดออกหาอาหารและน้ำกินเอง พอตกเย็นเป็ดก็จะกลับมานอนที่โรงเรือนเอง ส่วนการเลี้ยงเป็ดในโรงเรือนแบบปิดนั้นจะต้องมีการลงทุนที่สูง เพราะต้องมีการติดตั้งตาข่ายเพื่อกันสัตว์ต่างๆ เข้ามาทำร้ายเป็ด แต่มีข้อดีคือช่วยป้องกันการระบาดของโรคต่างๆ ได้ เพราะเป็ดจะถูกเลี้ยงอยู่แต่ในโรงเรือนเท่านั้น โดยต้องแบ่งพื้นที่ให้มีน้ำบ้าง หลังคาโรงเรือนต้องไม่สูง เพื่อกันไม่ให้ลมพัดเข้ามามาก กั้นรั้วสูงประมาณ 45 เซนติเมตร โดยโรงเรือน 1 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงเป็ดไข่ได้ประมาณ 5 ตัว ในโรงเรือนต้องมี รางน้ำสำหรับเป็ดแต่ละขนาด มีกรงกกลูกเป็ด และมีรังไข่ โดยโรงเรือนสำหรับเป็ดไข่นั้นต้องมีการวางแผนจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งเพื่อนๆ เกษตรกร อาจจะหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่ปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ได้เลยนะครับ