สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

สมอไทย ไม่ใช่สมอเทศ

สมอไทย เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้ในป่าทั่วไป รวมไปถึงหัวไร่ปลายนา ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,000 เมตร สมอไทยถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น นำเนื้อไม้จากลำต้นไปใช้ทำเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เปลือกไม้ของลำต้นและผลสามารถนำไปใช้ในการย้อมผ้าให้ดำและยังนำมาฟอกหนังได้ด้วย และโดยเฉพาะในเรื่องการนำมาใช้เป็นอาหารและยา โดยว่ากันไปตามลักษณะความสดและรสชาติของผล ซึ่งออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน ผลที่ยังอ่อนอยู่จะมีรสเปรี้ยว แต่เมื่อแก่จะมีรสฝาด ขม อมเปรี้ยว  หวานปลายลิ้น เมล็ดมีรสขม ซึ่งสามารถนำผลสมอไทยมาใช้เป็นยาแกท้องผูก ขับไปร้อนในร่างกาย ถอนพิษไข้ บรรเทาอาการแน่นท้อง ขับเสมหะ ลดอาการคลื่นเหียน ส่วนรสขมของเมล็ดนั้น ช่วยให้เจริญอาหารมากยิ่งขึ้น

โดยสมอไทยได้ถูกบรรจุในบัญชียาจากสมุนไพร ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ให้เป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการในระบบทางเดินอาหารร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ด้วยกัน 2 ตำรับคือ ตำรับยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง เมื่อใช้ยาตัวอื่นแก้ท้องผูกแล้วไม่เห็นผล และ ตำรับยาธาตุบรรจบ ที่ใช้รักษาอาการท้องเสีย และอาการแน่นท้อง

ขณะเดียวกัน โดยทั่วไปเรารู้จักสมอไทย จากการที่เป็นหนึ่งในสามผลไม้ไทย 3 อย่างของสมุนไพรพิกัดตรีผลา ที่ประกอบไปด้วย ผลสมอไทย ผลสมอพิเภก และผลมะขามป้อม ที่ใช้ขับเสมหะ และยังเป็นหนึ่งในสามของ 3 สมอ ในพิกัดตรีสมอ ซึ่งประกอบด้วย ผลสมอไทย ผลสมอพิเภก และสมอเทศ ที่ใช้แก้ไข้ ขับเสมหะ อีกด้วย นอกจากนี้เรายังนำใบสดจากต้นสมอไทยมาปรุงเป็นอาหารทั้งผัดและแกง ส่วนของผลยังนำมาจิ้มน้ำพริก และดองเค็มไว้รับประทานเป็นของว่าง

สมอไทยเป็นต้นไม้ที่มีขนาดสูงใหญ่ โดยมีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรไปจนถึง 30 เมตร มีเปลือกไม้ที่หุ้มลำต้นแตกเป็นร่อง เนื้อเปลือกไม้สีเทาแก่ผิวขรุขระ ด้านในของเปลือกมีสีขาวขุ่น   มีน้ำเหนียวหนืดเป็นยางข้นสีแดงเรื่อในเปลือกด้านใน แตกกิ่งสีน้ำตาลอ่อนเกือบเหลือง มีใบเดี่ยว รูปทรงรีเรียวปลายมนมีติ่งแหลม เนื้อใบเหนียว สีเขียวมันวาว มีขนอ่อนด้านบนของใบเล็กน้อย แต่ใบด้านล่างมีขนปกคลุมหนา ผลิดอกที่ยอดกิ่งหรือซอกใบเป็นรวงช่อ สีขาวครีม กลิ่นหอมละมุน ให้ผลรูปกลมรี ผิวเรียบเนียน มีผนังในผลแข็ง มีเมล็ดตรงกลางผล ในไทยเรามีการศึกษาพบว่ามีต้นไม้อีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายสมอไทยมาก มีชื่อว่า สมอนั่ง แต่มีขนาดลำต้นและพุ่มใบที่เล็กกว่าเท่านั้นเองครับ สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่จะนำสมอไทยมาปลูกไว้เป็นไม้คู่สวน เพื่อใช้ประโยชน์ก็น่าจะเป็นผลดีไม่น้อยครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook