พืชไร่พืชสวน เป็นคำที่เราหลายคนอาจเคยได้ยินกันบ่อยครั้ง แต่อาจจะแยกไม่ออกว่าพืชชนิดไหนเป็นพืชสวน พืชชนิดไหนเป็นพืชไร่ อันที่จริงแล้ว พืชไร่ คือ พืชที่เราเพาะปลูกบนพื้นที่ดอนหรือพื้นที่ลุ่มที่กว้างใหญ่ เป็นพืชล้มลุก ที่อาจมีอายุหลายปีหรือปีเดียวก็ได้ขึ้นอยู่กับวงจรชีวิตที่แตกต่างกันไปตามชนิดของพืช เช่น มันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด เป็นต้น
โดยลักษณะเด่นๆ ที่สังเกตได้คือ ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกมาก รายได้ต่อไร่ต่ำ การดูแลอาจไม่พิถีพิถันมากเท่ากับพืชสวน เป็นการทำเกษตรกรรมที่พึ่งพาน้ำไม่มาก ต้นพืชเองมีความทนทานต่อสภาพอากาศร้อนและแล้งได้ดี ใช้เวลาในการปลูกและดูแลไม่นานโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน ไปจนถึงไม่เกิน 1 ปี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว และมีเพียงพืชไร่ชนิดเดียวที่ไม่นิยมปลูกในที่ดอนและยังต้องการน้ำมาก คือ ข้าว นั่นเองครับ
พืชไร่สามารถแบ่งประเภทตามประโยชน์การใช้สอยได้เป็น กลุ่มอาหารสัตว์ ที่ส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึงหญ้า ที่เราผลิตออกมาเป็นทั้งหญ้าสดทั้งที่เพื่อตัดมาเลี้ยงสัตว์ หรือให้สัตว์ลงไปในไร่แล้วแทะเล็มกินเองก็ได้ รวมไปถึงหญ้าแห้ง และหญ้าสำหรับนำไปหมักอีกต่อหนึ่ง กลุ่มต่อมาคือธัญพืชและพืชให้เมล็ด ที่มนุษย์เราสามารถนำเมล็ดมาบริโภคเป็นอาหารได้ เช่นข้าวโพด ถั่ว เป็นต้น ส่วนกลุ่มพืชหัวนั้น ก็ยังสามารถแบ่งเป็นหัวที่เกิดจากรากและหัวที่เกิดจากเหง้า พืชอีกกลุ่มที่เป็นพืชไร่คือกลุ่มเส้นใยที่เราจะนำเส้นใยจากเปลือกหรือใบมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่มหรือผลิตเป็นเชือก เช่น ฝ้าย ปอ เป็นต้น ส่วนกลุ่มพืชน้ำตาล ได้แก่ อ้อยและข้าวฟ่างหวานนั้น จัดเป็นพืชไร่ที่เรานำมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีพืชไร่ที่เป็นกลุ่มที่มีสารกระตุ้นและยังมีบางชนิดที่จัดอยู่ในสารเสพติดเช่น ต้นชาและฝิ่น เป็นต้น ขณะที่กลุ่มพืชน้ำมันก็มีส่วนสำคัญในด้านเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ปาล์ม ทานตะวัน และยังมีกลุ่มที่ปลูกเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสด พืชคลุมดิน พืชทดแทนและพืชปลูกร่วม อีกด้วย
พืชไร่ ถือว่าเป็นพืชที่เพื่อนๆ เกษตรกรไทยเราปลูกบนพื้นที่จำนวนมากทั่วประเทศ เพราะพืชไร่นั้นเป็นเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยเราในการบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวนมาก โดยพืชไร่เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปอแก้ว และอ้อย แต่อย่างไรก็ตามการจะลงทุนทำพืชไร่นั้น จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับตัวพืชไม่น้อยกว่าพืชสวนเลยครับ หากเพื่อนๆ เกษตรมือใหม่จะเริ่มต้นลงมือ สิ่งแรกที่ต้องลงมือคือเรียนรู้ให้ถ่องแท้นะครับ