สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เห็ดแครง ตลาดกว้าง สรรพคุณมาก

เห็ดแครง เห็ดพื้นบ้าน ที่ถูกนำมาประกอบเป็นอาหารในหลายประเทศแถบเอเชีย สำหรับในบ้านเรานั้นจะพบว่าหลายจังหวัดในภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคใต้ นำมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้เพื่อปรุงเมนู เห็ดแครงหมก ผัด แกง หรือนำมาตำเป็นน้ำพริกเห็ด แต่น้อยคนนักจะทราบว่าเห็ดจัดเป็นยาบำรุงชั้นเยี่ยมของชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลี และชาวจีน ที่นิยมนำมาต้มเป็นน้ำซุปและนำมาปรุงอาหารเพื่อรับประทานเพื่อได้ทั้งความอิ่มอร่อยและสรรพคุณทางยาอีกด้วย โดยในประเทศญี่ปุ่นนั้น ยังได้มีการนำเห็ดชนิดนี้มาใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งร่วมกับยาแผนปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่มีผลอย่างชัดเจน แต่พบว่าผู้ป่วยที่ทานสารสกัดจากเห็ดชนิดนี้ร่วมกับยา มีอายุยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแต่เพียงอย่างเดียว

เห็ดแครงมีชื่อในเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ บ้างก็เรียกว่าเห็ดตีนตุ๊กแก บ้างก็เรียก เห็ดมะม่วง เห็ดยาง ตามชื่อต้นไม้หลักที่เห็ดไปอิงอาศัย โดยสามารถพบได้ในต้นมะม่วง ต้นยางพารา ต้นสน และต้นยูคาลิปตัส เป็นพืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในทุกฤดู แต่จะมีอัตรางอกสูงในช่วงฤดูฝน แต่ด้วยการขยายตัวของชุมชนมีมากขึ้น ทำให้ป่ามีน้อยลงและเห็ดแครงก็ลดจำนวนลงด้วย แต่ตลาดกลับมีความต้องการเห็ดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดของผู้บริโภคผู้รักสุขภาพ ทำให้เกิดการเพาะปลูกเห็ดแครงเพื่อการค้าขึ้นมา กลายเป็นอีกช่องทางให้เพื่อนๆ เกษตรกรสร้างรายได้

รูปลักษณะเห็ดจะเป็นเห็ดที่ไม่เป็นวงกลมเต็มวง เพราะมีการเจริญเติบโตของดอกเห็ดเพียงข้างเดียว รูปดอกเห็ดจึงเป็นครึ่งวงกลมคล้ายพัด กว้างไม่เกิน 3 เซนติเมตรและยาวไม่เกิน 4 เซนติเมตร ผิวด้านบนของดอกเห็ดมีสีขาวขุ่นและมีขนบางๆ เนื้อเนียนปกคลุมอยู่ ขอบดอกเห็ดเป็นคลื่นคล้ายตีนตุ๊กแก ด้านล่างบริเวณใต้ดอกเห็ดนั้นเป็นสีน้ำตาลแดง เจริญเติบโตแยกเป็นดอกเดี่ยวแต่ลดหลั่นกันเป็นชั้นบนต้นไม้เนื้อแข็ง

สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่สนใจเพาะเลี้ยงเห็ดแครงและมีพื้นความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดอื่นมาก่อน คงไม่น่าหนักใจอะไรนัก เพราะเพียงแค่เปลี่ยนแปลงสูตรอาหารเล็กน้อย และหาแม่เชื้อชั้นดีจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ก็ได้เห็ดแครงที่มีคุณภาพแล้ว แต่สำหรับมือใหม่นั้นจะต้องเตรียมวัสดุเพาะเลี้ยงให้เรียบร้อย และอาจจะต้องปรึกษาหาความรู้จากผู้รู้และเจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่ ก่อนจะทำการเพาะเชื้อ ซึ่งข้อดีของการเพาะเลี้ยงเห็ดนั้น คือใช้ต้นทุนไม่สูงมากนัก และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ยิ่งเรามีแนวทางในการทำตลาดที่ชัดเจน ไม่ว่าจะตัดขายสดให้พ่อค้าคนกลาง หรือนำมาตากแห้งแล้วส่งไปขายต่อตลาดส่งออก และยังมีช่องทางในการนำมาแปรรูปเป็นอาหารเสริมอีกหลายอย่าง หากเรามีตลาดชัดเจน ผลิตเท่าไรก็ได้ขายครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook