ไม้พยูง เป็นเนื้อไม้ที่ได้จากต้นพยูง เป็นมี่มีความเชื่อมาแต่โบราณว่าไม่ให้นำมาใช้สร้างบ้านหรือทำเครื่องเรือน เพราะไม้นี้เป็นไม้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น หากใครนำมาใช้อาจทำให้ชีวิตตกต่ำ นัยว่าหากบารมีไม่ถึงไม่ควรคู่กับไม้จะทำให้เกิดปัญหาทางด้านการเงินตามมา แต่กลับถูกนำมาใช้เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ขจัดโพยภัยต่าง ๆ หรือนำมาทำเป็นยอดธงหรือเสาธง แทน
ไม้พยูงเป็นไม้เนื้อแข็ง และต้นพยูงยังเป็นต้นไม้ที่ควรอนุรักษ์ไว้ปลูกให้เป็นประโยชน์กับลูกหลานในอนาคต และยังเป็นทรัพยากรของแผ่นดิน ผลประโยชน์ทางด้านการเงินนั้นเป็นผลพลอยได้อีกด้วย การปลูกต้นไม้ใหญ่นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภูมิอากาศดีขึ้น การดูแลก็ต้องพรวนดินใส่ปุ๋ยคอก ต้นไหนตายก็ให้เราปลูกซ่อม เน้นการปลูกแบบธรรมชาติ แม้จะใช้ระยะเวลานานแต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่าเหลือเกินครับ เพราะโบราณว่าไว้ว่า ใครมีต้นพยูงไว้ที่สวนเหมือนมีทองคำไว้ที่บ้าน เพราะเวลานี้ไม้พยูงหายากมาก เป็นไม้ที่ต้องการของตลาด จึงไม่แปลกเลยที่ราคาจะแพง และมีขบวนการลักลอบตัดไม้พยูงตามมา ทำให้เพื่อนๆ เกษตรกรบางคนถึงขนาดนอนเฝ้าต้นไม้พยูงเพราะกลัวจะถูกลักลอบตัดไปขาย
สำหรับต้นพยูงที่มีอายุประมาณ 50 ปี จะมีเส้นรอบวงประมาณ 40 เซนติเมตรนั้น สนนราคาซื้อขายในตลาดคิดกันเป็นลูกบาศก์เมตร ลูกบาศก์เมตรละ 7-8 หลักกันเลยครับ โดยต้นที่จะขายแก่นไม้ได้ อย่างน้อยต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี จึงจะมีแก่นมากพอที่จะนำไปใช้ทำประโยชน์ได้ หากมีการตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้วในการซื้อขายนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบทั้งผู้ซื้อและผู้ขายและปลอดภัยในเวลาขนย้ายเราต้องจัดทำสัญญาซื้อขายกันเป็นหนังสือ พร้อมมอบสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขายและสำเนาโฉนดแนบไปในสัญญาซื้อขายด้วย เพื่อเป็นหลักประกันว่าไม้พยูงต้นนี้ไม่ได้ขโมยตัดมา นอกจากนั้นยังมีการถ่ายภาพเจ้าของต้นไม้คู่กับต้นไม้ และถ่ายภาพการมอบหนังสือสัญญาซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อไว้เป็นหลักฐาน สิ่งสำคัญในการตัดต้นพยูงเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อนั้น เราจะต้องขุดดินตัดรากเพื่อให้ได้ส่วนของโคนต้นพยุงให้ได้มากที่สุดด้วยนะครับ
สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรที่อยากปลูกต้นพยูงชนิดอื่นเพื่อเป็นการค้า อาจจะปลูกไม้ “พะยูงไหหลำ” ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศจีน แต่เป็นไม้ที่ปลูกในประเทศจีนได้น้อยมาก เพราะเป็นไม้ที่ชอบอากาศร้อนแบบประเทศไทยเรา ใช้เวลาในการปลูกจนได้แก่นไม้เพียงไม่ถึง 6 ปี ก็ได้ผลผลิตสำหรับส่งออก ใช้เวลาน้อยกว่าพยูงไทยเรามากโขเลยครับ ถึงแม้จะได้แก่นไม้น้อยแต่ก็มีตลาดรองรับครับ