สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ไมยราบยักษ์ พืชคุกคามที่มาจากต่างถิ่น

ไมยราบยักษ์ พืชคุกคามที่สร้างความเสียหายให้แก่ภาคการเกษตรของไทยเราอย่างมาก มีชื่อเรียกหลากหลายเช่น ไมยราบน้ำ ไมยราบหลวง จิยอบหลวง เป็นต้น เป็นพืชที่อยู่วงศ์เดียวกันกับพืชถั่ว ถูกจัดเป็นวัชพืชต่างถิ่นประเภทรุกรานที่มีความรุนแรง เพราะว่าเป็นพืชที่กระจายพันธุ์ได้เร็วมาก เติบโตได้ในทุกสภาพแวดล้อมทั้งสภาพน้ำท่วมและน้ำแล้ง รุกรานเข้าไปในพื้นที่ทำการเกษตร ปศุสัตว์ รวมไปถึงแหล่งน้ำ และยังเป็นวัชพืชที่กำจัดยากเพราะลำต้นปกคลุมไปด้วยหนามแหลม

ไมยราบยักษ์ จัดเป็นไม้ยืนต้นตระกูลถั่ว และเป็นวัชพืชที่มีความสูงมากถึง 3 เมตร มีกิ่งก้านจำนวนมากตั้งแต่โคนต้นไปจรดปลายยอด ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-4 เซนติเมตรและมีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุของพืช เปลือกนอกของลำต้นมีสีเขียวอ่อนแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลแก่เมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ปลายกิ่งนั้นจะเป็นสีเขียวอ่อน โดยทั้งลำต้นและกิ่งจะมีหนามแข็งแหลม คม ปกคลุมโดยทั่ว มีฝักเมล็ดที่ลอยน้ำได้และสามารถพักตัวได้นานนับปีที่เป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่พันธุ์ไปได้อย่างรวดเร็วและกินพื้นที่มาก โดยกลไกการทำงานของเมล็ดนั้น เมื่อเมล็ดลอยไปกับน้ำจนไปถึงฝั่งหรือบริเวณน้ำแห้งแล้ว จะสามารถเติบโตขึ้นมาเองตามธรรมชาติอย่างรวดเร็วเลยครับ

ประเทศไทยเราได้จัดให้ไมยราบยักษ์ขึ้นทะเบียนเป็นวัชพืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน ที่ควรป้องกัน ควบคุมและกำจัด เพราะส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลการเกษตรและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด ขณะที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีกฎหมายควบคุมวัชพืชชนิดนี้เหมือนกันครับ แสดงให้เห็นว่าภัยที่เกิดจากต้นไม้ชนิดนี้ เป็นเรื่องที่เราควรต้องตระหนักกันอย่างมาก

แม้จะเป็นวัชพืชรุกรานที่รุนแรง แต่ไมยราบยักษ์ก็มีข้อดี คือสามารถบำรุงดินและยึดหน้าดินในบริเวณที่ต้นไม้ชนิดนี้งอกงาม ช่วยปรับเพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มความโปร่งในดินทำให้อุ้มน้ำได้ดี ปรับปรุงสมบัติทางเคมี ช่วยให้เกิดการตรึงไนโตรเจนในดินเหมือนที่เราปลูกปอเทืองและพืชตระกูลถั่วอื่นๆ วิธีการที่นิยมที่สุดคือไถกลบต้นไมยราบยักษ์ที่เติบโตเต็มที่ โดยสังเกตได้จากระยะที่มีดอกบานสะพรั่ง ให้เราไถกลบฝังพืชสดในดินที่มีความชุ่มชื้นสูง ทิ้งไว้ให้จุลินทรีย์ทำการย่อยสลายซากพืชให้กลายเป็นอินทรียวัตถุและธาตุอาหารที่สำคัญสำหรับผลผลิตของเรา

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook