สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ผักคาวตอง ผักพื้นบ้านล้านนา

ผักคาวตอง คือ ผักพื้นบ้านล้านนา ส่วนภาคกลางเรานั้นเรียกกันว่า พลูคาว เพราะลักษณะใบของผักชนิดมีความคล้ายคลึงกับใบพลู แต่ใบสดมีกลิ่นแรง รสคาวติดปาก จึงเป็นที่มาของชื่อพลูคาวนั่นเองครับ เป็นพืชล้มลุกที่เกิดขึ้นเองตามแหล่งน้ำ ลำห้วย หรือบริเวณที่มีความชุ่มชื้น จนชาวบ้านนำมาใช้เป็นผักรับประทานแนมกับลาบ ยำ โดยจะเป็นนิยมมากในแถบภาคเหนือและภาคอีสาน

ลักษณะของต้นผักคาวตองนั้นจะสูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีเขียว มีรากเกิดขึ้นตามปล้องข้อ ใบมีลักษณะคล้ายรูปใบโพธิ์ขนาดเล็ก โคนใบมนเว้า ปลายใบแหลม ใบมีสีเขียว ขอบใบและแผ่นใบเรียบ ผลิดอกขนาดเล็กสีขาวครีม ให้ผลแห้งก่อนที่จะกลายเป็นเมล็ดต่อไป

ผักคาวตองนั้นเป็นผักที่คนโบราณมักจะพร่ำสอนให้ลูกหลานนำมารับประทานเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ผิวพรรณมีน้ำมีนวล ส่วนในประเทศเขมรและเวียดนาม จะนำมาปรุงอาหารร่วมกับปลาหรือไข่เป็ดเพื่อช่วยลดกลิ่นคาวของปลาและไข่เป็ดลงได้ และยังนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้านรักษาอาการเจ็บป่วยในลำไส้ใหญ่ ขับปัสสาวะ รักษาอาการหวัด ไอ ขณะเดียวกันในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลียังนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรลดไข้ บรรเทาอาการอักเสบ และลดไขมันในเส้นเลือด ส่วนในประเทศเนปาลนั้นใช้ขับรูในสตรี

สำหรับฤทธิ์ทางด้านเภสัชวิทยาตามระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้ทำการศึกษาพบว่า สารที่ได้จากผักคาวตองมีฤทธิ์ในการระงับความเจ็บปวด ใช้ห้ามโลหิต กระตุ้นให้เซลล์เติบโต และมีสารฟลาโวนอยด์ที่ออกฤทธิ์ขับปัสสาวะ สำหรับน้ำมันที่สกัดจากผักคาวตอง ออกฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียและอหิวาต์บางชนิด รวมไปถึงต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ และที่ประเทศจีนก็ได้นำสารสกัดจากผักคาวตองมาเป็นสูตรผสมในยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่และต่อมทอนซิลอักเสบด้วย

ด้วยสรรพคุณที่น่าสนใจหลายประการและมีผลทดลองทางด้านเภสัชวิทยา ทำให้ผักคาวตองที่ใครหลายคนอาจเบือนหน้าหนี ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญ จึงเกิดเป็นช่องทางการผลิตยาสมุนไพรและอาหารสุขภาพต่างๆ ที่ผลิตขึ้นมาจากผักชนิดนี้  เพราะยังมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถรับประทานผักชนิดนี้สดๆ ได้ จึงทำให้ผักคาวตองที่มีตามธรรมชาติอาจไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมในการรวบรวมเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ จึงทำให้เพื่อนๆ เกษตรกรบางท่านหันมาทำแปลงผักสมุนไพรเพื่อเก็บเกี่ยวส่งขายให้กับโรงงานผู้ผลิตสมุนไพรและอาหารเสริมจากผักคาวตอง เช่น ไวน์ เครื่องดื่มผักคาวตองเข้มข้น และผักคาวตองแห้งต่อไป โดยเน้นการปลูกแบบปลอดสารพิษและสิ่งเจือปน โดยการคัดเลือกสายพันธุ์ที่สมบูรณ์ มาขยายพันธุ์โดยวิธีปักชำกิ่งในดินที่มีความชื้นสูง แสงแดดรำไร ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook