สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

โรคราน้ำค้าง

การดูแลรักษาต้นพืชให้ห่างไกลจากโรคพืชนับว่าเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกพืช โดยโรคพืชนั้นแต่ละฤดูกาลก็เกิดโรคแตกต่างกันไป แต่โรคที่สามารถระบาดได้ง่ายในช่วงฤดูฝน คือโรคที่เกิดจากเชื้อรา เนื่องจากภูมิอากาศเย็นขึ้นและมีความชื้นสูง ทำให้เหมาะแก่การเติบโตของเชื้อราบางชนิด โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ซึ่งเป็นโรคที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายในต้นพืช และยังแฝงตัวอยู่ในใบพืชรวมทั้งเมล็ดพันธุ์ของพืชได้อีกด้วยครับ

โรคราน้ำค้างจะเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่สามารถแพร่กระจายได้ด้วยลมและฝน ที่พัดพาเชื้อราของโรคราน้ำค้างไปติดต้นพืชชนิดอื่น และสัตว์ขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณพืชพันธุ์ที่เพาะปลูกยังสามารถนำพาเชื้อราดังกล่าวไปติดต้นพืชต้นอื่นได้อีกด้วยครับ เพื่อนๆ เกษตรกรจึงควรดูแลไม่ให้โรคราน้ำค้างระบาดในแปลงพืชเพราะอาจไปทำลายผลผลิตที่เพาะปลูกให้เสียหายและเสียราคาได้ครับ

โรคราน้ำค้างจะเกิดในต้นพืชได้ทั้งบริเวณใบ ดอก เมล็ดและลำต้น แต่ส่วนใหญ่จะพบว่าเกิดบริเวณใบ โดยใบจะมีลักษณะเป็นจุดสีเทาขาวก่อนที่จะกลายเป็นแผลสีเหลืองปนน้ำตาลเป็นจุดๆ กระจายเป็นวงกว้างและติดไปยังใบอื่น เชื้อราของโรคราน้ำค้างมักจะติดต่อในใบพืชที่อยู่ด้านล่างก่อนจะติดสู่ใบพืชปลายยอดและระบาดในแปลงพืชได้ เมื่อพืชเป็นโรคราน้ำค้างรุนแรงจะทำให้พืชเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด หากพบโรคราน้ำค้างในต้นกล้าจะส่งผลให้ต้นกล้าตายได้มากกว่าต้นพืชที่เจริญแล้ว เพราะพืชที่เจริญเติบโตจะมีภูมิคุ้มกันดีกว่าต้นกล้าครับ

วิธีการป้องกันโรคราน้ำค้างนั้นต้องเริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดที่ไม่มีประวัติโรคหรือเชื้อรามาเพาะปลูกลงแปลง และเพื่อให้แน่ใจควรนำเมล็ดที่จะเพาะปลูกไปแช่ในน้ำร้อนอุณหภูมิ 50 องศาประมาณ 20-30 นาทีก่อนปลูกเพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ที่ติดมากับเมล็ด และควรปลูกผักโดยเว้นระยะห่างระหว่างต้นพอประมาณเพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี แสงแดดส่องถึงลำต้นและใบอย่างทั่วถึง พุ่มใบของแต่ละต้นมีระยะห่างจากกัน เพื่อป้องกันโรคติดต่อระหว่างพืชได้ และควรปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อป้องกันการติดโรคในแปลงผัก แปลงนา ต่างๆ และควรหมั่นสังเกตต้นพืชในแปลงของเราสม่ำเสมอ หากพบพืชที่มีอาการเป็นโรคน้ำค้างควรใช้สารป้องกันและกำจัดฉีดพ่นบริเวณต้นพืช โดยอาจจะใช้น้ำส้มควันฉีดพ่นพืชเพื่อป้องกันโรคราน้ำค้างไม่ให้ลุกลามพืชได้ โดยพยายามหลักเลี้ยงการใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อป้องกันการสะสมของสารในผลผลิตและในดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเราในระยะยาวครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook