สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เหรียง พืชผักในพื้นที่ภาคใต้

ต้นเหรียง เป็นพืชผักในพื้นที่ภาคใต้ โดยเป็นพืชที่เติบโตในพื้นที่ที่มีภูมิอากาศร้อน โดยเฉพาะในบริเวณป่าดงดิบ เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำมาทานเป็นเครื่องเคียงกับแกงเผ็ด หรือ ผัดเผ็ดเมนูต่างๆ โดยจะนิยมนำเมล็ดจากต้นเหรียงมาเพาะเป็นหน่อ เมล็ดต้นเหรียงที่นำมาเพาะจะแตกหน่อคล้ายถั่วงอกมีสีเขียวหัวจะโตกว่าถั่วงอกเรียกว่า หน่อเหรียง ซึ่งจะนำมารับประทาน และนำไปจำหน่ายได้ราคาสูง หน่อเหรียงจะมีรสชาติกรอบมัน มีรสขมกว่าสะตอเล็กน้อย อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามิน ตามตำราแพทย์พื้นบ้านจะนำส่วนของเมล็ดเหรียงมาใช้เป็นสมุนไพรขับลม ลดการจุกเสียดในช่องท้องและลำไส้ ปัจจุบันมีเพื่อนๆ เกษตรกรบางรายมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจจากผลผลิตของต้นเหรียง จึงได้นำเมล็ดเหรียงมาเพาะเป็นหน่อเหรียง เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั้งในเขตภายใต้และส่งขายไปยังภาคต่างๆ เป็นการสร้างรายได้จากพืชชนิดนี้ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น

ต้นเหรียง เป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ ลำต้นสูงชะลูดตั้งตรง สูงประมาณ 30-50 เมตร เป็นพืชผักตระกูลเดียวกับสะตอ ทำให้ต้นเหรียงมีลักษณะใบรวมทั้งผลและลำต้นคล้ายกับต้นสะตอ แต่จะแตกต่างที่ต้นเหรียงจะแตกหน่อเป็นทรงพุ่มกลม มีใบงอกออกมาหนาทึบกว่าต้นสะตอ ผิวเปลือกของลำต้นเรียบสีเทา มีขนบางๆปกคลุมบริเวณกิ่งก้าน เมื่อเริ่มผลิดอกเป็นกระจุกทรงกลมจะทยอยผลัดใบและทยอยให้ผลที่ลักษณะเป็นฝักตรงและแบน เมื่อเริ่มผลิใบครั้งใหม่ผลที่ได้ก็จะแก่จนเต็มที่พอดีกลายเป็นสีดำแต่เมล็ดด้านในของฝักจะมีสีเขียวแก่และมีกลิ่นแรง ซึ่งเป็นส่วนที่จะนำไปเพาะเป็นหน่อเหรียงเพื่อใช้รับประทานต่อไป

นอกจากนำเมล็ดเหรียงมาเพาะเป็นหน่อเหรียงเพื่อประกอบอาหาร เป็นเมนูแกงหรือผัด หรือนำมารับประทานผลสดหรือนำไปดองรับประทานคู่กับน้ำพริกหรือแกงต่างๆ แล้ว เรายังสามารถนำต้นเหรียงไปใช้ประโยชน์เป็นเครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ เพราะเนื้อไม้มีสีอ่อน มีความงาม น้ำหนักเบา เนื้อไม้มีความเปราะและเหนียวทำให้สามารถนำผ่าเป็นชิ้นๆ ได้ง่าย ใช้ทำเป็นโครงของเฟอร์นิเจอร์ได้ดี และยังสามารถนำลำต้นทั้งลำมาตัดและขุดเนื้อไม้ตรงกลางออกเพื่อใช้เป็นเรือได้ด้วย

ขณะเดียวกัน ต้นเหรียงยังเป็นพืชตระกูลถั่วที่เหมาะแก่การนำมาปลูกเพื่อบำรุงดิน จึงเป็นพืชที่เพื่อนๆ เกษตรกรบางท่านนำมาปลูกแซมกับพืชอื่นๆ เพื่อให้ดินในแปลงปลูกมีคุณภาพดีมากขึ้น และยังสามารถใช้เป็นต้นตอสำหรับการขยายพันธุ์สะตอได้ด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook