สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ไม้ด่าง ไม้ประดับยอดนิยม

พืชพันธุ์ไม้ด่าง ในปัจจุบันถือเป็นพืชที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยสามารถสังเกตได้จากกระแสพูดถึงไม้ด่างในช่องทางโซเชียลมีเดียที่ฮิตติดเทรนด์ของกลุ่มซื้อ ขาย พืชพันธุ์ไม้ด่างมีทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก ที่ตามหาไม้ด่างนานาพันธุ์ มีราคาซื้อขายไม้ด่างเป็นจำนวนเงินถึงตันละหลักล้านเลยทีเดียว เนื่องจากลักษณะความด่างของใบของพืชพันธุ์จะเกิดขึ้นกับต้นไม้ได้ยากมาก จะเกิดขึ้นเป็นลักษณะพิเศษของต้นไม้บางต้นเท่านั้น ทำให้ไม้ด่างบางชนิดเป็นต้นไม้ที่หายาก จึงมีความต้องการในตลาดผู้บริโภคที่สะสมต้นไม้สวยงาม จนทำให้ไม้ด่างบางชนิดมีราคาสูง สร้างรายได้ให้กับผู้เพาะปลูกได้อย่างมหาศาลเลย

ไม้ด่างสามารถเกิดขึ้นกับพืชได้หลากหลายสายพันธุ์ โดยเกิดได้จากพันธุกรรมซึ่งอาการด่างของพันธุ์พืชนั้นจะแสดงให้เห็นอยู่ตลอดไม่หายขาด แม้จะมีการตัดใบพืชด่างดังกล่าวออกก็ตาม แต่เมื่อใบงอกมาใหม่ก็ยังคงเป็นพันธุ์ด่างเช่นเดิมอยู่ ส่วนพืชด่างอีกประเภท คือ พืชด่างที่เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็น แร่ธาตุ อาหาร หรือ แสงแดด ซึ่งหากได้รับไม่เพียงพอก็จะทำให้พืชมีใบด่าง ขาวซีดลงได้ แต่พืชด่างที่เกิดจากปัจจัยภายนอกนั้น สามารถกลับมาเป็นพืชใบเขียวเช่นเดิมได้ หรือ เรียกว่าไม่ใช่พืชสายพันธุ์ด่างที่แท้จริง

ในปัจจุบันไม่มีการเพาะพันธุ์พืชพันธุ์ด่างที่สามารถให้ผลผลิตเป็นพืชพันธุ์ด่างซ้ำได้เหมือนเดิมคงที่ได้ ในการเพาะปลูกคัดเลือกสายพันธุ์พืชเพื่อให้ได้พืชพันธุ์ด่างนั้น มีได้เพียงแค่ 5% เท่านั้น โดยสามารถขยายพันธุ์พืชพันธุ์ด่างได้ 3 วิธี วิธีแรก คือ  การเสียบยอด คือ นำยอดไม้พันธุ์ด่างมาเสียบกับต้นไม้พันธุ์เดียวกันที่มีใบปกติ จะช่วยทำให้ต้นไม้ด่างแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และดูแลได้ง่ายกว่าเดิมอีกด้วย เนื่องจากการดูแลต้นไม้พันธุ์ด่างต้องหมั่นดูแลเป็นพิเศษ เพราะไม้พันธุ์ด่างบางชนิดอาจจะไวต่อแสงแดด หรือ ระบายน้ำได้ไม่ดีเท่าพืชชนิดอื่น

การขยายพันธุ์ไม้ด่าง วิธีที่สอง คือ การเพาะเมล็ด หรือ เนื้อเยื้อ ซึ่งถือเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงและมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้ต้นไม้พันธุ์ด่างน้อย โดยมีโอกาสที่จะเพาะเมล็ด หรือ เนื้อเยื่อ ได้ไม้พันธุ์ด่างประมาณ 5% เท่านั้น นอกนั้นก็อาจจะเป็นพันธุ์ไม้ปกติ หรืออาจจะเกิดเป็นต้นไม้มีใบสีขาวเผือกทั้งต้นก็เป็นได้

วิธีที่สาม คือ การปักชำยอด ซึ่งเพื่อนๆ เกษตรกรที่ค้าไม้ด่าง จะทำการนำไม้ด่างพันธุ์เดียวกันมาปักชำบริเวณยอด ทำให้เห็นสีใบด่างบนต้นชัด แต่เป็นวิธีที่อาจจะต้องใช้เวลานาน ทั้งนี้ก็ถือเป็นวิธีที่ลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

หากใครอยากปลูกต้นไม้ด่างพันธุ์ต่างๆ ก็อย่าลืมดูแลให้ถูกวิธีกันด้วย เพราะหากดูแลไม่มากพออาจทำให้พืชต้นโปรดได้รับความเสียหายได้ครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook