สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

คัดเลือกความสูงในปาล์มน้ำมันด้วยเครื่องหมายโมเลกุล

ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจของไทย นิยมปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้จากสภาพอากาศที่มีความเหมาะสม อายุโดยเฉลี่ยของปาล์มน้ำมัน ประมาณ 20 ปี หลังจากนั้นเกษตรกรจะโค่นต้นเก่าทิ้งและทำการปลูกใหม่ เนื่องจากให้ผลผลิตน้อยลง และต้นมีความสูงยากต่อการเก็บเกี่ยว ประมาณ 10-15 เมตร ดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มต้นเตี้ยจึงเป็นที่ต้องการของนักปรับปรุงพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ลำต้นที่เตี้ยกว่าแม้จะมีข้อได้เปรียบในการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวก แต่ปาล์มต้นเตี้ยกลับให้ผลผลิตน้ำมันต่อทลายน้อยกว่าปาล์มน้ำมันทั่วไปถึง 5 เท่า ซึ่งหากนักปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันสามารถพัฒนาให้ต้นปาล์มเตี้ยและมีผลผลิตที่สูงขึ้น จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มได้รับผลประโยชน์อย่างมาก ทั้งเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สะดวกขึ้นและได้ผลผลิตดีขึ้นควบคู่กันไป

สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกความสูงในปาล์มน้ำมัน” แก่คณะนักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โดยมี ดร.สุธาสินี สมยง เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลจากยีนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความสูง โดยมีเป้าหมายในการใช้เป็นเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันต้นเตี้ยได้อย่างรวดเร็ว

ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยพบว่าเครื่องหมายโมเลกุลที่พัฒนาขึ้น มีความสัมพันธ์กับความสูงของต้นปาล์มน้ำมัน เช่นเครื่องหมายโมเลกุลอินเดล mEgGRF1-3 มีความสัมพันธ์กับความสูงในประชากร GT และ สุราษฎร์ธานี 7 เครื่องหมายโมเลกุลสนิป mEgDELLA1_SNP2248 ที่สัมพันธ์กับความสูงในประชากรสุราษฎร์ธานี 8 เป็นต้น โดยเครื่องหมายเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการใช้คัดเลือกความสูงในปาล์มน้ำมันต่อไปในอนาคตนอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้แก่บริษัท โกลด์เด้น เทอเนอร่า จำกัด และ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด และยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันเพื่อคัดเลือกต้นที่มีความเตี้ยในระยะต้นกล้าก่อนที่จะลงปลูกในแปลงจริง หรือก่อนที่จะส่งมอบพันธุ์การค้าให้แก่เกษตรกรต่อไป ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มได้พันธุ์ปาล์มต้นเตี้ยที่ช่วยทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ง่ายขึ้นและยกระดับรายได้ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook