สับปะรด นับเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ไทยเรามีการส่งออกจำนวนมากจนกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก กว่าร้อยละ 80 ของปริมาณผลผลิตเป็นสับปะรดอุตสาหกรรมซึ่งถูกนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดบรรจุกระป๋อง น้ำสับปะรด สับปะรดแช่แข็ง และสับปะรดแห้ง ส่วนที่เหลือราวร้อยละ 20 เป็นสับปะรดบริโภคผลสดภายในประเทศที่ผ่านมาสับปะรดพันธุ์หลักที่นิยมปลูกในเชิงการค้าของไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปัตตาเวีย หรือที่เรียกกันว่า สับปะรดศรีราชา เป็นพันธุ์ที่ผลิตเพื่อส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป จึงเป็นพันธุ์ที่สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นหลัก ส่วนพันธุ์ภูเก็ต เป็นพันธุ์ที่นิยมรับประทานผลสด สำหรับพันธุ์อื่น ๆ นั้นมีการปลูกกันไม่มากนัก เช่น พันธุ์นางแล พันธุ์อินทรชิต เป็นต้น
สับปะรดที่นิยมปลูกทั้งสองพันธุ์นั้นมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป เช่น พันธุ์ปัตตาเวีย แม้จะมีคุณสมบัติเด่นคือมีผลหวานฉ่ำและมีตาตื้น เหมาะในการแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง แต่กลับเป็นพันธุ์ที่ไม่ต้านทานโรค ทั้งโรครากและยอดเน่าและโรคเหี่ยว ส่วนสับปะรดพันธุ์ภูเก็ต ที่มีรสชาติหวาน หอม กรอบ ต้านทานต่อโรครากและยอดเน่า แต่ไม่เหมาะต่อการทำเป็นสับปะรดกระป๋องเพราะมีตาลึก ดังนั้นจึงได้มีการนำลักษณะที่ดีของพันธุ์สับปะรดทั้งสองพันธุ์มาผสมพันธุ์กันและคัดเลือกลักษณะที่ดีที่ต้องการจากพ่อแม่พันธุ์มาไว้ในลูกผสม โดยได้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ “HQC34” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและคุณภาพผลดี คือผลมีเนื้อสีเหลืองทอง มีความหวานสูงถึง 18 % Brix มีความกรอบ กลิ่นหอม เหมือนกับพันธุ์ภูเก็ต แต่ผลจะมีตาตื้นและกว้าง เนื้อแน่น สามารถแกะออกเป็นผลย่อยได้ด้วยมือคล้ายกับพันธุ์เพชรบุรี และที่สำคัญคือมีความต้านทานต่อโรครากและยอดเน่า
สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดยมี รศ.ดร.สุนีย์รัตน์ ศรีเปารยะ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อทดสอบพันธุ์สับปะรดลูกผสมพันธุ์ใหม่ในระดับแปลงเกษตรกรในหลายพื้นที่และหลายฤดูกาลแตกต่างกันไป รวมทั้งลักษณะทางเขตกรรมและคุณภาพเพื่อยืนยันความดีเด่นของพันธุ์ลูกผสมดังกล่าว และบอกความแตกต่างทางพันธุกรรมของสับปะรดลูกผสมพันธุ์ใหม่กับพันธุ์พ่อแม่หรือพันธุ์ปลูกอื่น ก่อนนำผลที่ได้ไปขอรับรองพืชพันธุ์ใหม่ต่อกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ก่อนเผยแพร่สับปะรดพันธุ์ใหม่ให้เกษตรกรปลูกซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนในส่วนของสารเคมีกำจัดโรคพืช ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการใช้สารเคมี ขณะเดียวกันยังได้รับผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรอีกด้วย