สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นเบาบับ ไม้ประดับอายุยืน

ต้นเบาบับ เป็นต้นไม้ที่อายุยืนนับพันปี ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่นพันธุ์ Panke baobab ในซิมบับเวมีอายุยืนถึง2,450 ปี และปัจจุบันพบต้นไม้ชนิดนี้ที่ อุทยานแห่งชาติ  Tsimanampetsotse National Park ในเมืองมาดากัสการ์ มีอายุมากกว่า 1,000 ปี โดยแหล่งกำเนิดของพืชอยู่ที่มาดากัสการ์ในประเทศแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับและประเทศออสเตรเลีย ก่อนที่จะกระจายมาสู่พื้นที่ทวีปเอเชียในเวลาต่อมา เป็นต้นไม้ที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ในลำต้นที่อวบอิ่มได้มากถึง 120,000 ลิตร เพื่อเก็บไว้ใช้หล่อเลี้ยงตัวเองในช่วงฤดูแล้ง และจะทำการผลัดใบออกในช่วงฤดูดังกล่าว จนกิ่งก้านที่แทงขึ้นฟ้ามีรูปร่างคล้ายรากไม้ จนถูกขนานนามว่าต้นไม้กลับหัว ในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า upside-down tree

ต้นเบาบับเป็นไม้ผลัดใบที่มีลำต้นขนาดใหญ่ บริเวณช่วงล่างของลำต้นจะขยายออกเมื่อมีการกักเก็บน้ำไว้ ยิ่งเก็บน้ำได้มากก็จะยิ่งขยายขนาดของลำต้นให้ใหญ่ขึ้น โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 เมตร มีลักษณะคล้ายขวดน้ำขนาดสูงใหญ่ยักษ์ ที่ตั้งอยู่กลางป่า ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน ความสูงมีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม โดยมีความสูงตั้งแต่ 5 เมตรไปจนถึง 30 เมตร มีใบเรียบ แต่บางพันธุ์อาจจะมีคลุมอ่อนปกคลุมใบได้ ขอบใบเรียบ แตกดอกขนาดใหญ่บริเวณซอกใบ ผลิเฉพาะช่วงย่ำค่ำเท่านั้นและมีกลิ่นหอม เป็นดอกไม้ที่มีระยะเวลาผสมเกสรได้สั้น ดอกจะค่อยๆ เปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีครีม สีเหลืองและสีแดงในที่สุด เมื่อออกผลจะให้ผลรียาวขนาดใหญ่ มีเปลือกผลแข็งหนา ลักษณะของผลคล้ายผลน้ำเต้าขนาดใหญ่ มีรสเปรี้ยว

ข้อมูลจาก medical news today ได้ระบุว่า ทุกส่วนของต้นเบาบับได้ถูกนำมาใช้เป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่มและของใช้ในครัวเรือน เริ่มจากผลที่นำมารับประทานได้ และแป้งที่ได้จากการนำเมล็ดเบาบับมาบดนั้นสามารถนำมาเติมในอาหารให้ประโยชน์และโภชนาการที่ดี เพราะเป็นแหล่งวิตามินซี โพแทสเซียม และคาร์โบไฮเดรต ขณะที่ในยุคโบราณนั้นได้นำใบ เปลือกไม้ และเมล็ดมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อรักษาอาการไข้ต่างๆ ทั้งไข้หวัด อาการอักเสบ หอบหืด และบรรเทาปวด โดยใบและเนื้อผลใช้เพื่อลดไข้และเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีบางสายพันธุ์ที่สามารถนำมาผลิตเป็นเส้นใยทอผ้า สีย้อมผ้า และเป็นเชื้อเพลิงได้ เช่น ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของออสเตรเลียได้ผลิตเชือกจากรากของเบาบับพันธุ์ A. gregorii และยังนำผลมาประดิษฐ์เป็นหัตถกรรมเพื่อให้ประดับประดาบ้านเรือนอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้เราได้พบว่าเครื่องสำอางเพื่อการบำรุงความชุ่มชื้นแก่ผิวบางชนิดได้ผสมน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดเบาบับเป็นส่วนประกอบและเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ด้วย ขณะเดียวกันก็ยังมีการนำมาเมล็ดมาสกัดและผลิตเป็นน้ำมันพืชอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook