สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินของตำรับยาไทย (เทพรังษิต)

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่เกิดความผิดปกติบริเวณผิวหนัง เกิดขึ้นจากภาวะภูมิแพ้ตนเองของผู้ป่วย ทำให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวในอัตราที่เร็วมากผิดปกติจนผิวหนังเกิดอาการอักเสบกลายเป็นขุยและสะเก็ด ทำให้ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง เพราะเป็นโรคเรื้อรัง ที่พร้อมจะแสดงอาการได้เมื่อพบสิ่งกระตุ้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูง

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดทางเลือกในการรักษาพยาบาล สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาตำรับยาการแพทย์แผนไทย เพื่อ เป็นแนวทางการรักษา ป้องกันและบรรเทาโรคต่าง ๆ ได้

โดยโครงการวิจัยนี้ได้มุ่งวิจัยตำรับยาเทพรังษิตเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นตำรับยาสมุนไพรไทยที่ถูกบันทึกสรรพคุณทางยาไว้ใน “คัมภีร์แก้พิษโลหิตอันบังเกิดแต่ผิวเนื้อ” ประกอบด้วยตัวยาทั้งหมด 16 ชนิด คือ โกฐสอ โกฐกระดูก โกฐเชียง โกฐหัวบัว กฤษณา เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก จันทน์แดง จันทน์ขาว เทียนดำ กระลำพัก ขอนดอก ใบสันพร้าหอม ใบพิมเสน  ผักกระโฉม เปราะหอม

ทั้งนี้ การนำสมุนไพรมาใช้เพื่อการรักษาโรค จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการควบคุมคุณภาพของสมุนไพรที่นำมาใช้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการรักษาและสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค โครงการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาไทย (เทพรังษิต) ในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน  โดยคณะผู้วิจัยที่นำโดย ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ได้ทำการศึกษาการควบคุมคุณภาพทั้งสมุนไพรเดี่ยวและสมุนไพรตำรับ จัดทำมาตรฐานตำรับยาเทพรังษิต และศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตำรับยาเทพรังษิตในระดับหลอดทดลอง และสัตว์ทดลอง ก่อนที่จะพัฒนารูปแบบยาเตรียม การควบคุมคุณภาพตำรับยาเพื่อใช้ในการวิจัยทางคลินิกต่อไป

ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้จะก่อให้เกิดสมุนไพรทางเลือกที่ได้รับการจดสิทธิบัตรยาไทยในการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ที่สามารถใช้ทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันที่มีราคาสูง ลดค่าใช้จ่ายการนำเข้ายาแผนปัจจุบันและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศลงได้ และยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขและประชาชนในการใช้ยาสมุนไพรตำรับไทยมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมการผลิตยาสมุนไพรในระดับอุตสาหกรรมและส่งเสริมการเพาะปลูกสมุนไพรเพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook