สนใบพาย ภาษาอังกฤษ Podocarpus polystachyus เป็นชื่อของไม้สนยืนต้นที่เคยพบได้มากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบทุกประเทศ มีถิ่นกำเนิดในสิงคโปร์ในบ้านเรายังมีเรียกเป็นชื่ออื่นๆ เช่น ต้นสนจักรพรรดิและต้นหลิวอรหันต์ เป็นไม้มงคลที่มีความเชื่อว่าบ้านเรือนใดปลูกไว้ในรั้วบ้าน จะนำพาบารมีและความความสงบร่มเย็นมาสู่ผู้อยู่อาศัยในบ้านเรือนแห่งนั้น นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและไม้ดัด เหมาะต่อการนำมาจัดตกแต่งสวน สวนสาธารณะ และริมถนน เป็นไม้ยืนต้นมีความสูงตั้งแต่ 1-20 เมตร แต่ความสูงที่พบอยู่โดยทั่วไปไม่เกิน 6 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 3-45 เซนติเมตร ผิวของลำต้นเป็นร่อง แตกใบเป็นทรงรียาวขอบเกือบขนาน แคบแต่ปลายสอบเข้าเกือบแหลม ใบมีความยาว 3-10 เซนติเมตร กว้าง 0.6-1.3 เซนติเมตร ขอบใบเรียบ ผิวใบหนา แตกดอกเป็นพวงช่อทรงกระบอกบริเวณง่ามใบ กระจุกตัวราว 3-5 ช่อต่อกลุ่มดอก มักเติบโตตามชายทะเลที่เป็นหินและทราย ในบริเวณป่าชายเลน และหน้าผาริมชายฝั่ง ในประเทศสิงคโปร์พบว่าเคยนำใบของต้นพืชชนิดนี้มาใช้เป็นสมุนไพรรักษาอาหารเจ็บปวดในไขข้อ
ในบัญชีรายชื่อพืชที่ถูกคุกคามของประเทศสิงคโปร์ (Red Data Book )นั้น ยังระบุว่า ต้นไม้ชนิดนี้จัดเป็นไม้ “ใกล้สูญพันธุ์”ชนิดหนึ่ง ที่พบเห็นได้ค่อนข้างยาก จนในปัจจุบันได้มีการเร่งระดมปลูกตามบริเวณอุทยานแห่งชาติริมฝั่งทะเลของสิงคโปร์อย่างกว้างขวางเพื่ออนุรักษ์ต้นสนใบพายไว้ ขณะที่ IUCN Red List of Threatened Species ได้ระบุว่า การขยายตัวของชุมชนและการขยายตัวของการปลูกปาล์มในมาเลเซียอาจทำให้พืชพันธุ์นี้มีจำนวนน้อยลงในอนาคตอีกด้วย
ต้นสนพายเติบโตได้ดีในอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 25 องศาเซลเซียส และมีค่าเฉลี่ยน้ำฝนรายปีประมาณ 2,700 มิลลิเมตร เป็นพืชที่มีความสามารถในการปรับตัวต่อภูมิอากาศได้ดีมาก เติบได้ดีในบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งในบริเวณป่าชายเลน หาดทราย ริมผา และป่าดิบชื้น แต่เป็นพันธุ์ไม้ที่เติบโตช้า เป็นต้นไม้แยกเพศ หากต้องการผลไม้ต้องนำต้นพันธุ์แต่ละประเภทมาปลูกคู่กัน นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยเมื่อต้นกล้าเต็มที่จึงย้ายลงปลูกในกระถางหรือในแปลงดินต่อไป
ไม้สนชนิดนี้เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีเนื้อไม้สวย สีเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลทองเรื่อหรือสีเหลืองอ่อน เนื้อสัมผัสเนียนเรียบ มีความเหนียวและแข็งแรง สามารถตกแต่งและแปรรูปไม้ได้ มีความเงาวาว ขึ้นเงาง่ายหากได้รับการขัดแต่งเนื้อไม้ จึงถูกนำมาใช้ผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องไม้ เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน ใช้กรุเป็นผนัง ต่อเรือ ทำวงกบ ประตู หน้าต่าง และยังนำเศษไม้อัดเป็นไม้กระดานด้วย