สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ไผ่กิมซุง

ไผ่กิมซุง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendrocalamus asper เป็นไผ่ที่เรานิยมปลูกไว้เพื่อเก็บเกี่ยวหน่อมาปรุงเป็นอาหาร ส่วนของลำไผ่นั้นสามารถนำมาผลิตหรือประกอบเป็นเครื่องเรือน ทำไม้แบบ ในงานก่อสร้าง ใช้ทำค้างไม้หรือเป็นไม้ค้ำยันในทางเกษตร และยังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย จนกลายเป็นพืชสร้างรายได้ให้แก่หลายชุมชน เพราะมีประโยชน์ครบครันและยังใช้เวลาในการปลูกไม่มาก การดูแลไม่ซับซ้อน ทำให้เป็นไผ่ชนิดนี้กลายเป็นไผ่เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการปลูกจากเกษตรกร ทั้งผลิตเพื่อตัดหน่อและผลิตเพื่อใช้ลำไผ่ เพราะไผ่ที่มีตามธรรมชาตินั้นมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม

ไผ่กิมซุง เป็นต้นไผ่ที่มีลักษณะลำต้นและกาบใกล้เคียงกับไผ่สีสุก ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดระหว่างไผ่ทั้งสองชนิดคือ บริเวณโคนกอไผ่กิมซุงจะไม่มีหนามบริเวณกิ่ง เป็นไผ่ที่แตกหน่อได้ดก รสชาติหน่อหวาน กาบหน่อไม่มีขน นอกจากนำมาประกอบอาหารแล้วยังสามารถนำหน่อไผ่ชนิดนี้ไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตไบโอแก๊ซในบางท้องที่อีกด้วย ลักษณะลำต้นมีความสูงระหว่าง 15-25 เมตร มีปล้องนูนเป็นข้อๆ บริเวณลำต้น โดยแต่ละปล้องห่างกันราว 30-50 เซนติเมตร เปลือกผิวของลำไผ่มีสีเขียวมันขลับ เรียบ ด้านในลำไผ่มีเนื้อในหนาจนเกือบตัน มีความแข็งแรงและยืดหยุ่น หน่อมีขนาดใหญ่ให้น้ำหนักถึง 2-3 กิโลกรัมต่อหน่อ ให้ผลผลิตทั้งปี มีความต้านทานต่อโรคสูง ไม่ค่อยมีแมลงมาก่อกวน

การขยายพันธุ์ไผ่กิมซุงนั้นนิยมใช้วิธีการตัดชำกิ่งแขนงหรือกิ่งที่แตกออกมาจากตาตรงปล้อง โดยจะเริ่มตอนกิ่งกันในช่วงปลายฝนเมื่อมีการแตกกิ่งแขนงจำนวนมาก เลือกใช้กิ่งที่มีอายุประมาณ 5 เดือน มีขนาดลำกว้าง 4-5 เซนติเมตรรากอากาศแก่ แตกใบอ่อน ไม่มีกาบหุ้มบริเวณตา การชำนิยมชำในถุงดำโดยไม่ย้ายชำกล้าเพื่อทะนุถนอมต้นกล้าให้บอบช้ำ น้อยลง ทำเลที่ใช้ในการเพาะปลูกควรเป็นพื้นที่ราบ มีสภาพดินร่วน และควรใกล้แหล่งน้ำ แม้ว่าไผ่ชนิดนี้จะเป็นไผ่ที่ทนน้ำขังได้ดีกว่าไผ่ชนิดอื่น แต่ต้องปลูกในบริเวณที่น้ำไม่ท่วมขัง เพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่

ช่วงเริ่มต้นปลูกจนถึง 6 เดือนให้หมั่นรดน้ำสม่ำเสมอ เมื่ออายุมากกว่านั้นสามารถเว้นช่วงการให้น้ำเป็นให้ทุก 10 วันแทน แต่หากเป็นช่วงที่ฝนแล้งจัดควรเพิ่มความถี่ในการให้น้ำมากขึ้นหรือหาฟางมาคลุมดินเพื่อป้องกันการคายระเหยความชื้น ภายใน 9 เดือน ไผ่ก็จะเริ่มแตกหน่อ รอจนหน่อเบียดกันมากกว่า 5 หน่อ ค่อยทยอยตัดออกเพื่อไม่ให้แย่งอาหารกัน โดยจะตัดหน่อที่ไม่สมบูรณ์ออกประมาณ 3 หน่อจาก 5 หน่อ ส่วนลำที่เล็กไม่มีคุณภาพให้ทำการตัดทิ้งเมื่อพบ โดยเลี้ยงไว้เฉพาะลำที่สมบูรณ์กอละไม่เกิน 5 ลำ รอจนผลผลิตสมบูรณ์จึงทำการเก็บเกี่ยวตามกระบวนการต่อไป

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook