สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ประโยชน์ของหยวกกล้วย

หยวกกล้วยคือส่วนหนึ่งของต้นกล้วยที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ แม้จะถูกละเลยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์กันเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อเก็บเกี่ยวผลกล้วยแล้ว ชาวสวนส่วนใหญ่มักจะตัดต้นกล้วยทิ้ง เพื่อรอรอบการเพาะปลูกใหม่ อย่างที่พวกเราต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า กล้วยเป็นพืชที่เราสามารถนำทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ราก ผล ปลี ใบ ลำต้น หยวก น้ำยาง ไปจนกระทั่งเปลือกกล้วย ทั้งในนำมาประกอบอาหาร เป็นสมุนไพรรักษาโรค นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ นำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

หยวกกล้วย คือ แกนกลางด้านในสุดของลำต้นเทียมที่อยู่เหนือดินของต้นกล้วย ผิวเนื้อสีขาวนวล ผิวสัมผัสกรอบ ฉ่ำน้ำ มียางเป็นลักษณะใยเหนียวบางๆ มีไฟเบอร์สูง นิยมนำส่วนของหยวกกล้วยมาใช้ประโยชน์ในการประกอบอาหาร โดยหลังจากตัดต้นกล้วยแล้ว ให้ดึงเอากาบรอบลำต้นเทียมออกจนถึงกาบอ่อนของหยวก แล้วนำมาหั่น ล้างให้สะอาด ก่อนจะปรุงอาหารได้หลายเมนู เช่น แกงหยวก แกงส้ม ผัดหยวกใส่กะปิ เป็นต้น ถือเป็นอาหารที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น และยังอุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงเลือดได้ดี

ปัจจุบันได้มีแนวคิดในการใช้ประโยชน์ของหยวกกล้วยมากขึ้น โดยได้มีการนำมาศึกษาพัฒนาค้นคว้าต่อยอดเป็นการหยวกกล้วยแช่อิ่ม หยวกกล้วยอบแห้ง โดยหยวกกล้วยแต่ละพันธุ์นั้นอาจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันบ้าง ในพื้นที่ไหนมีกล้วยพันธุ์มาก ก็อาจจะต้องพัฒนาสูตรที่เหมาะสมกับพันธุ์ของตน เพื่อลดของเหลือทิ้งและสร้างมูลค่าให้ทุกส่วนของผลผลิต ในบางพื้นที่ก็ได้นำหยวกกล้วยมาผสมกับอาหารเพื่อเติมไฟเบอร์หรือใยอาหารมากขึ้น เป็นการเพิ่มสารอาหารที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการย่อยและการทำงานของระบบลำไส้ เช่น นำหยวกกล้วยมาบดผสมกับหมูเพื่อใช้ผลิตไส้อั่ว ทำให้ไส้อั่วมีแคลอรี่ต่ำลงแต่มีไฟเบอร์สูงขึ้น เหมาะแก่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และต้องการควบคุมแคลอรี่ ขณะที่บางบ้านยังนำหยวกกล้วยมาต้มในน้ำเดือดแล้วนำมาดื่มแทนน้ำ เพื่อลดอาการท้องเฟ้อและขับปัสสาวะ

นอกจากการใช้ประโยชน์ของหยวกกล้วยสำหรับการบริโภคแล้ว เรายังพบเห็นการนำหยวกกล้วยมาใช้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น การนำหยวกกล้วยและต้นกล้วยมามัดเรียงกันเป็นท่อนๆ ทำเป็นแพหยวกกล้วยลอยบนน้ำได้ ซึ่งมักจะพบเห็นได้ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันด้วยการล้มต้นกล้วยมาทำเป็นแพชั่วคราว ในตลาดสดหลายพื้นที่ยังใช้หยวกกล้วยมาตัดเป็นเส้นใช้เพื่อพันผักต่างๆ เป็นกำ เพื่อนำไปวางขายตามตลาด และด้วยความอวบน้ำของหยวกกล้วย จึงทำให้ร้านไม้ประดับบางแห่งนำมาใช้เป็นฐานรองสำหรับปักดอกไม้ที่ใช้ประดับสถานที่ รวมทั้งนำมาทำเป็นฐานของกระทง นอกจากนี้ยังได้นำหยวกกล้วยมาสับผสมในอาหารหมูอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook