สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ตาข่ายไนล่อน หรือมุ้งไนล่อน

ตาข่ายไนล่อน มุ้งไนล่อน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ผ้ามุ้งนั้น คือ วัสดุสังเคราะห์ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรกรรม ทั้งการทำพืชสวน พืชไร่ การทำปศุสัตว์และการประมง และยังถูกนำไปใช้ในการทำสวนครัวและใช้ประโยชน์ในกระบวนการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น นำมาเป็นวัสดุประเภทหลังคาสำหรับโรงเรือนปลูกผัก คลุมพรางแสงสำหรับสวนกล้วยไม้ และใช้ครอบแปลงผักต่างๆ เพื่อป้องกันแมลงไม่ให้มาก่อกวนผลผลิตในแปลง โดยลดการพึ่งพาสารเคมีต่างๆ ส่วนในการทำปศุสัตว์นั้น จะนำผ้ามุ้งมาเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมารบกวนสัตว์ที่เราเลี้ยง แบ่งขอบเขตระหว่างพื้นที่เลี้ยงสัตว์และบังแดดให้ร่มเงาแก่สัตว์เลี้ยง สำหรับการทำประมงนั้นเราจะนำวัสดุชนิดนี้มาเย็บทำกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ ใช้คลุมบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ และยังใช้สำหรับกั้นพื้นที่แต่ละส่วนของบ่อเลี้ยงปลา สำหรับการนำมาใช้เป็นวัสดุเพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตผลนั้น ตาข่ายจะถูกนำมาใช้รองพืชผลในการตากแห้งผลผลิต เช่น ตากพริก ตากข้าวเปลือก เป็นต้น

ลักษณะของตาข่ายไนล่อนที่เรามักพบโดยทั่วไปจะเป็นตาข่ายที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกประเภทโพลีเอททีลีน สีฟ้าหรือสีขาว ที่มีความเหนียว ทนทาน โดยนำพลาสติกผ่านกระบวนรีดให้กลายเป็นเส้นใยขนาดที่เหมาะสม กลายเป็นเส้นด้ายพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง แล้วนำไปทอและประสานเส้นด้ายเข้าด้วยกันผ่านความร้อนสูง ทำให้ประสานกันสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน มีความเหนียว ใช้งานได้ยาวนาน ไม่ผุพังง่าย เหมาะกับทุกสภาพแวดล้อม

ตาข่ายที่มีจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดนั้น มีขนาดความถี่ของตาแตกต่างกันไป โดยเราสามารถเลือกซื้อตามวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยจะเรียกตามจำนวนตาต่อตารางนิ้ว เช่น มุ้ง 16 ตา คือ มุ้งที่มีแนวตั้ง 16 เส้นและแนวนอน 16 เส้น ในพื้นที่ 1 ตารางนิ้ว สามารถวัดได้โดยนำไม้บรรทัดมาวัดที่มุ้งจะพบว่า ใน 1 นิ้ว จะมีเส้นทั้งหมด 16 เส้น โดยตาข่ายไนล่อนที่มีจำนวนตาเยอะ จะมีความถี่ของตาเยอะ เหมาะแก่การใช้งานสำหรับกันแมลงตัวเล็กมาก  โดยทั่วไปตาข่ายที่ใช้สำหรับคลุมแปลงผักใบและผักสวนครัวนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ตาถี่มาก เพราะเป็นพืชที่เพลี้ยไฟไม่มาก่อกวน ทำให้เหมาะแก่การใช้ตาข่ายที่มีตาไม่ถี่นัก ซึ่งจะช่วยระบายความร้อนในดินได้ดีกว่าตาข่ายตาถี่ด้วย ทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นอาจจะเลือกใช้ผ้ามุ้ง 16 ตาหรือ 20 ตา แต่สำหรับพืชผลที่มีเพลี้ยไฟคอยก่อกวนนั้น จะต้องใช้ตาข่ายไนล่อนที่มีความถี่มากเพื่อป้องกันเพลี้ยไฟไม่ให้สร้างความเสียหายแก่พืชผล เป็นต้น ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจลงทุนซื้อตาข่ายเพื่อการเกษตร เราควรจะต้องเข้าใจวัตถุประสงค์การใช้งานให้ละเอียดครับ

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook