ปัจจุบันผู้บริโภคให้การยอมรับสมุนไพรมากขึ้น ทำให้สมุนไพรถูกนามาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง หากผู้บริโภคได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรที่ผลิตออกมาอย่างถูกต้องและมีคราสินค้าที่ดี จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้น ก่อให้เกิดการบริโภคซ้ำ ทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้รับการยอมรับและส่งผลให้เกิดความสำเร็จแก่ผู้ประกอบการในระยะยาว
กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการพัฒนาภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไทย โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ การบูรณาการศาสตร์การแพทย์แผนไทยเข้ากับระบบบริการสาธารณสุข ส่งเสริมการใช้สมุนไพรและบริการด้านการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้โดยทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยมีจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อดำเนินงานด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งหน่วยงานบูรณาการในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะดำเนินโครงการ “พัฒนาเมืองสมุนไพร (Herbal City)” ด้วยการพัฒนาและยกระดับจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวใหม่ในเชิงธรรมชาติบำบัด-สมุนไพรซึ่งกำลังได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ และต้องมีการสร้างตราสินค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถจดจำได้ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรของชาวชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะขมิ้นชันของอำเภอบ้านตาขุนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาวิเคราะห์หาสารคิวเคอร์มินอยด์ (Cucurminoid) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์แก้อักเสบในขมิ้นชัน พบว่าขมิ้นที่อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสารคิวเคอร์มินอยด์สูงมากถึงในระดับประมาณ 10 ถึง 10 กว่าๆ ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ดีมาก
ในการจัดการผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อให้ยั่งยืนนั้น นอกจากจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีแล้ว การสร้างคุณค่าในตราสินค้าก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ลูกค้าสามารถจดจำได้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรของผู้ประกอบการและชุมชนได้เป็นอย่างดีตลอดจนการสร้างกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบครบวงจรก็เป็นส่วนสำคัญยิ่งเพื่อเป็นการสร้างการตลาดที่เข้มแข็งและเพื่อส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อดำเนินโครงการ “การพัฒนาขีดความสามารถด้านการตลาดและการสร้างตราสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรของผู้ประกอบการในโครงการเมืองสมุนไพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยมี ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ สุวรรณทิพย์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัย ,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ,สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา ,สำนักงานพาณิชย์จังหวัด , อบต. , ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่, ปราชญ์ชาวบ้าน และภาคีภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนขีดความสามารถด้านการตลาดและการสร้างตราสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรของเมืองสมุนไพรให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดสุราษฏร์ธานี ตลอดจนศึกษาและกำหนดกลยุทธ์การตลาดในการสร้างตราสินค้าและพัฒนาช่องทางการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรของเมืองสมุนไพรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขับเคลื่อนตราสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรของจังหวัดสุราษฎร์ธานีภายใต้แนวคิด “One Suratthani One Herbal Brand” เพิ่มขีดความสามารถทางด้านการตลาดให้กับผู้ประกอบการทางด้านสมุนไพรของจังหวัดสุราษฏร์ธานี ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนและเกิดความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมในที่สุด