ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของประเทศไทย โดยประเทศไทยนั้นเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก นำรายได้จากการส่งออกข้าวเข้าประเทศเป็นอันดับต้นในกลุ่มสินค้าภาคเกษตรกรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยมีการปลูกข้าวทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ การปลูกข้าวจึงมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงในหลายมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยของประเทศ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 ประเทศไทยโดยตัวแทนจากกรมการข้าวได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Sustainable Rice Platform : SRP เพื่อร่วมจัดทำมาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายองค์กรระดับนานาชาติและประเทศสมาชิกใน SRP ในการพัฒนามาตรฐานและตัวชี้วัดความยั่งยืนของการปลูกข้าวร่วมกัน ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก SRP ของประเทศไทยในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อนำมาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนระดับสากลที่ได้รับการยอมรับมาประยุกต์ใช้ในบริบทเกษตรกรรมของประเทศไทย และเพื่อยกระดับและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายและผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวของประเทศไทย โดยผลการประเมินความยั่งยืนการปลูกข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิตของการปลูกข้าวจะเป็นแนวทางช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถยกระดับการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ที่ผ่านมาได้มีการทดลองประยุกต์ใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดความยั่งยืนของการปลูกข้าว ที่นาข้าวจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อประเมินระดับความยั่งยืนของการปลูกข้าว พบว่า มาตรฐานและตัวชี้วัดความยั่งยืนที่นำมาประยุกต์ใช้งานนั้นควรได้รับการปรับปรุงให้ใช้งานได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นและควรเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลให้ครอบคลุมประกาศมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนด้านอาหารและเกษตร (Sustainability Assessment of Food and Agriculture systems, SAFA) ของ องค์การอาหารและการเกษตรแหงสหประชาชาติ (FAO) และการแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังเป็นเงื่อนไขทางการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเกษตรและอาหาร รวมทั้งประเด็นปัญหาเชิงสังคมที่เกี่ยวของกับการใช้แรงงานภาคเกษตรกรรมที่ประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ
สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดำเนินการวิจัยโครงการ “การวิเคราะห์ประเด็นปัญหาความยั่งยืนของอุตสาหกรรมข้าวไทยโดยตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งมี ผศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง เป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว เพื่อศึกษาจำแนกและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาความยั่งยืนของอุตสาหกรรมข้าวไทยโดยตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ ประเมินความยั่งยืนของการปลูกและแปรรูปข้าวในด้านสิ่งแวดลอม สังคม และเศรษฐศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ จัดทำกรอบนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวอย่างยั่งยืนและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของการปลูกและแปรรูปข้าวโดยอาศัยข้อคิดเห็นจากภาคีที่เกี่ยวข้องผ่านการระดมสมอง เพื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล และส่งมอบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของการปลูกและแปรรูปข้าว (Life cycle national inventory databases) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย อันเป็นการสนับสนุนการประยุกต์ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการเตรียมความพร้อมด้านการค้า และ การตัดสินเชิงนโยบายดานการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยให้มีความยั่งยืนทั้งในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล และเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมข้าวของโลก