สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นหูเสือ พืชในวงศ์กะเพรา

ต้นหูเสือ หรือ เนียมหูเสือ ในภาคเหนือเรียก หอมด่วนหลวงหรือหอมด่วนหูเสือ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษหลากหลาย ได้แก่ Indian borage, country borage, French thyme, Indian mint, Mexican mint, Cuban oregano, soup mint, Spanish thyme เป็นพืชในวงศ์กะเพรามีถิ่นกำเนิดในบางภูมิภาคของแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับ และอินเดียและแพร่กระจายพันธุ์ไปยังประเทศเขตร้อนต่างๆ เติบโตในป่าหรือพุ่มไม้ชายฝั่ง บนเนินหินและพื้นราบหรือดินทราย ประเทศไทยพบเห็นได้ในทุกภาคแต่จะพบมากในภาคเหนือ ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ พืชสมุนไพร และเครื่องเทศ มีกลิ่นคล้ายใบออริกาโน่และรสคล้ายสาระแหน่  จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องเทศปรุงรสดับกลิ่นที่รุนแรงของอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เพิ่มความหอมน่ารับประทานแก่เมนูต่างๆ และยังมาใช้เป็นผักสดเพื่อรับประทานคู่กับลาบ ยำ ได้

ส่วนต่างๆ ของต้นหูเสือสามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรได้ ยกตัวอย่างเช่น ต้นและใบสามารถนำมาใช้กระตุ้นทำให้เจริญอาหาร เป็นยาบำรุงธาตุ นำมาคั้นหยอดหูเพื่อรักษาฝีในช่องหู ใบนำมาเคี้ยวดับกลิ่นปากคล้ายสาระแหน่ หากนำมาตำและห่อผ้าขาวประคบหน้าผากเด็กจะช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้ บ้างก็นำใบมาขยี้สูดดมแทนยาหอมเพื่อให้คลาดอาการคัดจมูก นำใบสดราว 5 ใบฉีกหรือขยำแล้วต้มในน้ำสะอาดนำมาดื่มเป็นยาบรรเทาอาการเจ็บคอและไอ หรือจะนำไปต้มเป็นต้มจืดรับประทานก็ได้ เป็นต้น

ต้นหูเสือเป็นพืชล้มลุกอวบน้ำ มีอายุราว 2-3 ปี สูงประมาณ 0.5 – 1 เมตร ลำต้นเปราะ มีขนปกคลุมลำต้นอ่อนจำนวนมากและจะเริ่มหลุดร่วงออกไปเมื่อลำต้นมีอายุมากขึ้นจนมีลำต้นเกลี้ยง เรียบ เนียน แตกใบเป็นใบเดี่ยว ขนาด 5-7 เซนติเมตร กว้าง4-6 เซนติเมตร รูปทรงไข่ปลายเรียว ขอบใบหยักคล้ายจักรแต่ปลายหยักมน แผ่นใบหนามีขนบางๆ ปกคลุมทั้งผิวใบและท้องใบ ก้านใบมีขนาด 2-4 เซนติเมตร เมื่อนำใบมาฉีกหรือขยี้จะให้กลิ่นหอมรุนแรง แตกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด ช่อมีความยาวระหว่าง 10-20 เซนติเมตรประกอบด้วยดอกย่อยจำนวน 10-20 ดอกที่เรียงตัวกันแน่น บานไม่พร้อมกัน ดอกจะมีสีม่วงอ่อนแกมขาว ลักษณะโดดเด่นมีความยาวราว 1 เซนติเมตร ใบประดับเป็นวงรีกว้าง ยาว 3-4 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงยาว 2–4 มิลลิเมตร รูปทรงดอกคล้ายทรัมเป็ต มีผลรูปร่างกลมแป้นขนาดเล็กสีน้ำตาล เปลือกแข็งผิวเรียบ

ปัจจุบันมีการเพาะขยายพันธุ์ต้นหูเสือเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องเทศและสมุนไพร รวมทั้งนำมาสกัดน้ำมันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปรุงแต่งกลิ่นในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นในน้ำยาสระผม เป็นต้น โดยสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการปักชำยอดในดินที่มีความสมบูรณ์ของอินทรียวัตถุและมีความร่วนซุยและแสงแดดส่องถึงปานกลาง

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook