สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นเกล็ดปลาช่อน พืชตระกูลถั่ว

ต้นเกล็ดปลาช่อน เป็นหนึ่งในพืชตระกูลถั่ว ปลูกในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนามมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และ ออสเตรเลีย โดยพบได้ตามที่รกร้างว่างเปล่าบนเนินเขา ริมถนน ป่าโปร่งบนเนินเขาที่ระดับความสูง 200 – 1,500 เมตร ต่อมาได้กระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่างๆ ที่มีอากาศร้อนชื้น ต้นเกล็ดปลาช่อน ถือว่าเป็นหนึ่งในไม้มงคลในอดีตกาล ที่จะถูกนำไปใช้ประกอบช่วงเวลาพิเศษที่แต่ละบ้านจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้นำขึ้นยุ้งฉากเพื่อเก็บรักษาไว้ จะต้องนำต้นเกล็ดปลาช่อนมาใช้ร่วมด้วยเสมอ นอกจากนี้ยอดอ่อนที่มีรสชาติฝาดขมและมันมักจะใช้เป็นผักสดเพื่อจิ้มรับประทานกับน้ำพริก ในบังคลาเทศได้นำเปลือกของลำต้นพืชชนิดนี้มาทำเป็นยาใช้สำหรับโรคท้องร่วงและโรคตา ดอกถูกนำมาใช้ลดความกระหายน้ำ นอกจากนี้ยังพบว่าในตำราแพทย์พื้นบ้านได้นำรากและใบมาต้มในน้ำดื่มเพื่อใช้ลดไข้และเป็นยาขับปัสสาวะ ใบนำมารักษารอยแผลเป็นและแผลต่างๆบริเวณผิวหนัง ทั้งต้นสามารถนำมาใช้รักษาอาการปวดข้อ ปวดกระดูก ปวดฟัน ดอกนำมาใช้เป็นสมุนไพรลดการจุกเสียดแน่นท้อง ปัจจุบันพืชชนิดนี้ได้รับความนิยมมาปลูกเป็นไม้ประดับและยังใช้เพื่อปรับปรุงสภาพดิน เพราะเป็นพืชตระกูลถั่วที่ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศสะสมไว้ที่รากได้ และยังใช้เป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องอีกด้วย

ต้นเกล็ดปลาช่อน เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดเล็ก ที่มีลำต้นเล็กเรียวยาวแตกแขนงต่ำ สามารถเติบโตได้สูง 50 – 250 เซนติเมตร ดำรงอยู่ได้หลายปี ลำต้นมีสีเปลือกน้ำตาล ผิวเรียบ แต่บริเวณกิ่งก้านนั้นจะมีขนอ่อนปกคลุมอย่างหนาแน่น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ประกอบด้วยใบย่อย3ใบ ทรงขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลมมน ขอบใบอาจมีคลื่นบ้างในบางสภาพสิ่งแวดล้อมแต่โดยส่วนใหญ่แล้วขอบใบจะเรียบ แผ่นใบสีเขียว ผิวใบและท้องใบมีขนอ่อนปกคลุม แต่บริเวณท้องใบมีขนหนาแน่นกว่า ส่วนผิวใบนั้นเมื่อแก่ขนจะร่วงหล่นไปกลายเป็นใบที่เกลี้ยง เรียบเนียน ดอกจะออกเป็นกระจุกตามซอกใบและบริเวณปลายยอดของกิ่ง เรียงตัวกันเป็นกระจะยาว มีใบประดับ 2 ใบโอบโคนดอกไว้จนกระทั่งให้ผล ดอกจะมีสีเหลืองจางๆ หรือ สีขาว ให้ผลเป็นฝักที่มีลักษณะแบน ขอบขนาน แต่เว้าคอดเป็นปล้องข้อ 2-4 ข้อ เปลือกของฝักมีลายตาราง

หากจะปลูกต้น เกล็ดปลาช่อน เพื่อพรางรอยต่อของดินกับโคนต้นไม้ใหญ่ให้เป็นสีเขียวงามตาและออกดอกสวยนั้น ส่วนใหญ่จะปลูกด้วยการปักชำกิ่ง และหมั่นให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งให้น้ำที่มีละอองฝอยกระจายทั่วทุกซอกของต้นไม้ก็ยิ่งได้ความเขียวขจีมากขึ้น

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook