สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ต้นเต่าร้าง ไม้ประดับตระกูลปาล์ม

ต้นเต่าร้าง เป็นพืชฝนตระกูลปาล์ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caryota urens ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันตก เช่น ประเทศอินเดิน ประเทศศรีลังกา และแพร่กระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่างๆ ในแถบอินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชารวมถึงประเทศไทยเราด้วย พบเห็นได้ทั่วไปตามป่าต่างๆ และบริเวณริมแหล่งน้ำทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย  แต่เดิมคนจะนำก้านใบปาล์มชนิดนี้มาใช้เป็นคันเบ็ดสำหรับตกปลา ในประเทศศรีลังกาจะนำน้ำจากต้นเต่าร้างมาเคี่ยวจนเหนียวข้นเพื่อใช้เป็นน้ำเชื่อมสำหรับใช้ปรุงแต่งรสหวานให้แก่อาหาร ส่วนน้ำหวานจากช่อดอกสามารถนำมาตากแดดจนกลายเป็นผงแล้วนำมาให้ความหวานได้ ในประเทศกัมพูชานิยมนำใบจากต้นเต่าร้างมาผลิตเป็นเครื่องจักสานต่างๆ

สำหรับในประเทศไทยเรา นิยมนำยอดอ่อนมารับประทานทั้งแบบสดๆ และนำมาลวก ผัด ต้ม แกง  และส่วนของแกนในบริเวณโคนต้น ยังสามารถนำมาทำแกงได้รสชาติหวานมัน ปัจจุบันต้นเต่าร้างได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นพืชประดับสวน ด้วยฟอร์มของลำต้นที่มีเอกลักษณ์ ใบมีลวดลายชัดเจน  นอกจากนี้ ต้นเต่าร้าง ยังเป็นไม้ที่ประชาชนในภาคเหนือของไทยเราถือว่าเป็นไม้มงคล โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะนำตุงหรือธงกระดาษของทางล้านนาผูกเข้ากับก้านเต่าร้าง เพื่อนำไปปักบนกองทรายที่ถูกก่อขึ้นเป็นเจดีย์ในวันทำบุญวันสงกรานต์ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวอีกด้วย

ในแง่ของสมุนไพรแล้วต้นเต่าร้างถือว่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายทาง ชนเผ่าบางเผ่านำรากของต้นเต่าร้างมาต้มในน้ำสะอาดเพื่อใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกายให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง และในการแพทย์พื้นบ้านยังนำหัวอ่อนมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับลดไข้ แก้อาการจับสั่น เพิ่มความอบอุ่นภายในร่างกาย และยังใช้เพื่อบำรุงปอดและตับ ลดอาการช้ำใน และยังใช้เพื่อเป็นยาบำรุงหัวใจอีกด้วย

ต้นเต่าร้างโดยทั่วไปจะมีความสูงระหว่าง 5 – 10 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ 15-20 เซนติเมตร ลำต้นสูงชะลูด ผิวภายนอกเรียบเนียนสีเขียวเข้ม อาจแตกเป็นกอ 2-4 กอ แต่ส่วนใหญ่มักพบเป็นต้นเดี่ยว เมื่อออกดอกและผลแล้วลำต้นจะตายลงในที่สุด มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น  ทรงช่อใบมีลักษณะสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ ประกอบด้วยช่อใบย่อย 10-23 ช่อ มีความยาวระหว่าง 60-100 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ผิวใบมันวาวสีเขียวเข้ม กาบใบยาวสีน้ำตาลเข้ม ผลิดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเป็นรวงยาวห้อยย้อยลงสู่โคน ก้านดอกสมบูรณ์ ดอกเพศผู้มีสีครีมเข้ม ส่วนดอกเพศเมียเป็นสีเขียวอ่อน ให้ผลไม้สีเขียวอมเหลือง เนื้อผลมีพิษ สามารถปลูกได้ในดินที่ระบายน้ำได้ดี ด้วยการแยกกอและการเพาะเมล็ด

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook