สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เชื้อราบิวเวอร์เรีย หรือ เชื้อราขาว

เชื้อราบิวเวอร์เรีย หรือ เชื้อราขาว Beauveria bassiana เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคในแมลงหลายชนิด เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเชื้อราทำลายแมลง หรือ เชื้อราปฏิปักษ์ สามารถผลิตเอนไซม์ที่มีพิษต่อแมลงได้ จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นจุลินทรีย์ควบคุมแมลง เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและหนอนต่างๆ รวมไปถึง เพลี้ยอ่อน ไรแดง แมลงหวี่ขาว และเพลี้ยไก่แจ้ส้ม ซึ่งเชื้อราชนิดนี้จะสร้างเส้นใยและสปอร์ให้แพร่ไปในธรรมชาติได้ เมื่อสปอร์ของเชื้อราบิวเวอร์เรียตกลงไปบริเวณลำตัวของแมลง ในสภาวะที่มีความชื้นและอุณหภูมิที่เอื้ออำนวย สปอร์จะสามารถแทงก้านสปอร์เข้าไปในลำตัวแมลงด้วยการใช้เอนไซม์เพื่อย่อยสลายเซลล์ทะลุผิวหนังได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง และสร้างสารพิษทำลายเซลล์เม็ดเลือดของแมลง จนทำให้แมลงเป็นอัมพาตและตายลง โดยระยะเวลาในการทำลายของแมลงแต่ละชนิดแตกต่างกันไปตามช่วงวัยและชนิดของแมลง หลังจากนั้นก้านสปอร์จะแทงทะลุลำตัวแมลงออกมาและกระจายตัวเองตามธรรมชาติเป็นวัฏจักรต่อไป

เชื้อราบิวเวอร์เรียถูกค้นพบได้ครั้งแรกในยุโรป ที่พบได้ในหนอนไหมที่มีการตายจำนวนมากในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ที่มีลักษณะการตายของหนอนไหมที่ห่อหุ้มด้วยเชื้อราสีขาวคล้ายมัมมี่ เชื้อราชนิดนี้มีการสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ มีก้านชูสปอร์เดี่ยว ไม่มี สปอร์สีใส อยู่รวมกันเป็นสาขา สปอร์มีลักษณะกลมรี เส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 3.5 ไมโครเมตร มีเส้นใยขนาก 1.5 ไมครอนทรงกระบอก เป็นเชื้อราที่สามารถพบได้ในดินทั่วทุกมุมโลก

ในยุคปัจจุบัน เกษตรกรหันมาใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมศัตรูพืชมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการตกค้างของสารเคมีในผลิตผลและในแปลงเกษตรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความปลอดภัยของตัวเกษตรกรเอง เชื้อราบิวเวอร์เรียจึงกลายเป็นศัตรูธรรมชาติสำหรับศัตรูพืชที่เกษตรกรให้การยอมรับอย่างแพร่หลาย มีการพัฒนาสูตรต่างๆ ขึ้นโดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ได้มีการพัฒนาสูตรและประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเป็นเชื้อราที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย เก็บเชื้อราไว้ได้นานโดยไม่เสื่อมคุณภาพ ทำให้ลดการใช้สารเคมีลงได้

โดยก่อนการนำเชื้อราบิวเวอร์เรียไปใช้ฉีดพ่นในแปลงปลูกราว 1 ชั่วโมงจะต้องสร้างชุ่มชื้นในสภาพแวดล้อมด้วยการรดน้ำให้ชุ่มชื้นเพื่อให้เอื้อต่อการเติบโตของเชื้อรา และควรฉีดพ่นในช่วงเวลาแดดร่มลมตก เพื่อให้มีความชื้นต่อเนื่อง กระตุ้นให้เชื้อราทำงานเต็มที่ และเพิ่มความชื้นในเช้าวันถัดไปด้วยการให้น้ำซ้ำอีกครั้ง โดยการฉีดพ่นนั้นต้องฉีดให้สัมผัสตัวแมลงศัตรูพืชให้ได้มากที่สุด และฉีดให้ทั่วถึงที่สุด เพื่อจะได้กำจัดแมลงศัตรูได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook