โรคแคงเกอร์ เป็นไรคที่เกิดในพืช โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ บริเวณที่เกิดเนื้อเยื่อตายลงไป แล้วค่อยๆ ขยายตัวอย่างช้าๆ บางครั้งอาจใช้เวลาแรมปี ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้แก่พืชผลการเกษตรและพืชสวนต่างๆ โดยสาเหตุของโรคอาจจะมาจากไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา โดยสภาพภูมิอากาศและแมลงอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการระบาดของโรคได้ และวิธีที่ทำได้ดีที่สุดคือให้รีบกำจัดส่วนของต้นไม้ที่ติดโรคแคงเกอร์ออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นการควบคุมโรคไม่ให้เกิดการระบาดมากขึ้น
โรคแคงเกอร์ที่พบมากในบ้านเรานั้น จะพบมากในพืชสกุลส้ม เรียกว่าเป็นโรคประจำตัวของพืชสกุลนี้กันเลย โดยเฉพาะมะนาวที่มักพบโรคนี้ได้บ่อยมาก ซึ่งมักจะเกิดจากแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis ที่มีความสามารถในการเข้าไปโจมตีทุกส่วนของต้นพืชตระกูลส้ม ยกตัวอย่างเช่น มะนาว เชื้อสาเหตุจะเข้าไปทำลาย ใบ กิ่งและผล สังเกตได้จากผิวของผลมะนาว ใบ กิ่ง จะมีรอยนูนเป็นสะเก็ดสีน้ำตาล แล้วขยายพื้นที่กว้างขึ้น ซึ่งแบคทีเรียมักจะเริ่มทำลายพืชในช่วงที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน จนอาจจะทำให้กิ่งแห้ง ใบหลุด และผลชะงักการเจริญได้
การแพร่กระจายของโรคมักจะแพร่ไปกับแมลง ลมและน้ำ และยังมักจะแพร่ไปตามการเคลื่อนย้ายต้นกล้า ที่ไม่ได้รับการตรวจตราโรคอย่างละเอียด จึงทำให้มีนำโรคแคงเกอร์จากฟาร์มหนึ่งไปสู่ฟาร์มอื่นๆ ได้ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แนะนำวิธีการป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ โดยให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคแคงเกอร์ แล้วทำการเผาทำลายให้สิ้นซาก และให้ทำการพ่นน้ำส้มควันไม้ที่ตกตะกอนแล้ว อัตรา 150-200 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกครั้งที่มะนาวแตกใบอ่อน เพื่อป้องกันโรคในเบื้องต้น นอกจากนั้นเกษตรกรบางรายยังใช้การเสียบยอดมะนาวกับต้นพืชสกุลส้มอื่นๆ ที่มีความต้านทานต่อโรคนี้สูง เพื่อลดโอกาสในการติดโรคให้น้อยลงและให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น
ในขณะที่โรคแคงเกอร์ในมะเขือเทศและพริก เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clavibacter michiganensis จนทำให้ ลำต้น ใบ และผล เสียหายและสามารถสร้างความเสียหายให้แก่พืชในฤดูกาลนั้นทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว และโรคนี้ยังสามารถอยู่รอดได้ในดินและในไม้ค้ำยันต้นไม้ที่ทำจากไม้ ทำให้เราต้องทำการกวาดล้างให้สิ้นซากตั้งแต่ช่วงการเตรียมดินและเตรียมวัสดุ ขณะเดียวกันต้องหมั่นเดินตรวจตราสวน เมื่อพบเห็นความผิดปกติของส่วนต่างๆ ของต้นมะเขือเทศหรือพริกให้รีบดำเนินการกำจัดส่วนที่ติดเชื้อโรคในทันที โดยนำส่วนที่ติดเชื้อไปเผาทำลาย และทำการติดตามหาจุดที่ได้รับผลกระทบเพิ่มและกำจัดทิ้งให้หมด ซึ่งถือเป็นการยับยั้งโรคที่เราสามารถทำได้ทันที