สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

หญ้ามูลาโต้ ใช้เป็นอาหารสัตว์

หญ้ามูลาโต้ เป็นหญ้าที่ถูกนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง ที่ก่อนหน้านั้นเกษตรกรมักจะปลูกหญ้ารูซี่ไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ แต่พบว่าหญ้ารูซี่นั้นเป็นหญ้าที่ไม่ทนแล้ง ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้งซึ่งมีระยะเวลายาวนานมาก ครั้นจะปลูกหญ้าซิกแนลที่ทนแล้งได้ดี ก็กลับพบข้อด้อยที่มีเมล็ดพันธุ์น้อยนัก ทำให้หญ้ามูลาโต้และมูลาโต้ 2 ที่เป็นหญ้าพันธุ์ปรับปรุงขึ้นโดย CIAT ประเทศโคลอมเบีย ตอบโจทย์ในการนำประโยชน์ในประเทศไทยเรา เพราะหญ้าชนิดนี้เป็นหญ้าลูกผสม 2-3 สายพันธุ์ ที่นำข้อดีของพันธุ์ ต่างๆ มารวมเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งทนต่อสภาวะอากาศที่แห้งแล้ง ทนร้อนได้ดี เติบโตได้แม้ในดินที่ขาดแคลนธาตุอาหาร ทนต่อการโดนเหยียบ แต่ไม่เหมาะต่อดินที่ระบายน้ำยาก ผลผลิตหญ้าที่ได้มีปริมาณสูง สัตว์ชอบกิน และมีโปรตีนหยาบประมาณร้อยละ 7-16

อันที่จริงแล้ว หญ้ามูลาโต้ จะมี 2 พันธุ์ โดยพันธุ์แรกคือ หญ้ามูลาโต้ ที่เป็นหญ้าลูกผสมระหว่างหญ้ารูซี่กับหญ้าซิกแนลตั้ง B. ruziziensis x B. brizantha artificial hybrids มีลักษณะเป็นกอกึ่งเลื้อยกึ่งตั้ง คล้ายหญ้ารูซี่ ใบหญ้ากว้างและให้ใบปริมาณมาก ใบธงตรง มีขนกระจายปกคลุมทั่วทั้งแผ่นใบและท้องใบ ส่วนกาบใบนั้นมีขนบางเล็กน้อย ออกดอกช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนพร้อมกัน ทนแล้งได้ดีกว่าหญ้ารูซี่ เหมาะสำหรับการปลูกในดินดอนที่ไม่มีน้ำท่วมขัง สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งการใช้เมล็ดและหน่อพันธุ์ ได้หญ้าแห้งไร่ละ 2-4 ตันต่อปี

ส่วนพันธุ์มูลาโต้ 2 เป็นหญ้าพันธุ์ลูกผสม 3 สายพันธุ์ ระหว่างหญ้ารูซี่กับหญ้าซิกแนลนอนและหญ้าซิกแนลตั้ง B. ruziziensis, B. brizantha และ B. decumbens เป็นหญ้ามีขนทั้งใบ และกาบใบ มากน้อยแตกต่างกันไป มีการงอกแบบใบเลี้ยงอยู่ใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะเป็นกอสีเขียว กึ่งเอนราบกึ่งเลื้อย ใบยาวได้ถึง 50 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่พร้อมกันในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน ปีละครั้ง ดอกเป็นสมบูรณ์เพศ และช่อดอกแบบช่อแยกแขนง เมล็ดพันธุ์และผลหญ้ามูลาโท 2 จะเป็นผลประเภทผลเดี่ยว แห้ง และไม่แตก เรียกว่า ผลธัญพืช เมล็ดมีน้ำหนักเฉลี่ย 8.7 กรัม ต่อ 1,000 เมล็ด ทำให้เก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อได้ง่าย สามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น ได้เมล็ดพันธุ์ถึง 40-80 กิโลกรัมต่อไร่  ส่วนผลผลิตน้ำหนักแห้งของหญ้านั้นได้ผลผลิตประมาณไร่ละ 2-4 ตันต่อปี

หญ้าอาหารสัตว์จัดว่าพืชที่มีความสำคัญระดับประเทศ ยิ่งมีทางเลือกดีๆ มากเท่าไร เกษตรกรก็ย่อมได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น เพราะจะทำให้เราได้อาหารสัตว์ชั้นดีไว้เลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อยอีกด้วย

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook