ปอกะบิด หรือปอบิด เป็นพืชเขตร้อน พบได้ในแถบเอเชียใต้หรืออนุทวีปอินเดีย ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล มัลดีฟส์ และทวีปโอเชียเนีย ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีเลียแลtหมู่เกาะที่เกี่ยวข้อง และยังพบได้ในเมียนมาร์และไทยอีกด้วย โดยสามารถงอกเองตามธรรมชาติและเติบโตได้ดีในป่าแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ป่ารกร้างแถบเนินเขา ถูกจัดเป็นไม้สกุลฝ้ายหรือชบา แต่บางครั้งก็พบว่าถูกจัดในสกุลสำโรงบ้างเช่นกัน พืชชนิดนี้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอินเดีย
ปอกะบิดในเขตร้อนแถบอเมริกาและเอเชียพบได้ถึง 60 ชนิด ขณะที่พบพืชสกุลปอกะบิดในประเทศไทย 7 ชนิดทั่วประเทศแต่ที่เป็นที่รู้จักจะมีเพียง 5 ชนิดเท่านั้น คือ ปอกะบิด พูหมี ขี้อ้น ปอกะเจาขาว และป่าเหี้ยวหมอง พืชในสกุลปอกะบิดในประเทศไทยเรานั้นนิยมนำมาใช้กันมากจะเป็นชนิด Helicteres isora L. หรือปอกะบิดมีการนำส่วนต่างๆ ของต้นพืชมาใช้ประโยชน์ทางยา เช่น ส่วนของรากไม้นำมาต้มในน้ำเพื่อนำน้ำที่ได้มาดื่มกินแก้อาการลำไส้อักเสบ แก้ท้องเสียและแก้อาการปวดมวนในท้อง ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอ ลดน้ำตาลและความดันในกระแสเลือด ส่วนของผลหรือฝักนำมาใช้ต้มและดื่มเพื่อขับลมในช่องท้อง ลดกรดในกระเพาะอาหาร ลดอาการแน่นเฟ้อ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังสามารถนำเส้นใยที่ได้จากเปลือกไม้ของต้นปอกะบิด มาผลิตเป็นเชือกเพื่อใช้ทอกระสอบ กระเป๋าหรือใช้เป็นเชือกผูกมัดสิ่งของต่างๆ โดยประเทศอินเดียและอินโดนีเซียจะนำเชือกปอนี้ไปใช้ประโยชน์สำหรับเชือกเพื่อผูกยึดผ้าใบและเปลญวนตั้งแต่ ค.ศ.2000 แต่ในเวลาไม่นานได้เปลี่ยนมาใช้ปอกะเจาในการทำเชือกแทนปอกะบิด ลักษณะของเส้นใยปอกะบิดนั้นจะมีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีเงิน มีความยาวของเส้นใยประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีความกว้างประมาณ 16 ไมโครเมตร และหนา 6 ไมโครเมตร ตัวเส้นใยเป็นมันวาวเงา โดยคุณภาพของเส้นใยนั้นขึ้นอยู่กับอายุของพืชเป็นหลัก ลำต้นอ่อนจะได้เส้นใยที่คงทนและนุ่มลื่น แต่หากต้นแก่เกินกว่า 2 ปี จะได้เส้นใยที่ขาดง่ายและเนื้อหยาบ เนื้อไม้นำมาผลิตกระดาษได้ดีเพราะฟอกขาวแล้วได้สีขาวงามตา สำหรับวิธีสกัดเส้นใยนั้น ตามวิถีชุมชนจะทำโดยการนำต้นปอกะบิดไปแช่น้ำในลำห้วยหรือลำน้ำธรรมชาติต่างๆ ที่มีน้ำไหลตลอดเวลา ยาวนานถึง 4 สัปดาห์ แต่หากเป็นต้นอ่อนจะใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น แล้วนำมาวางบนบกและใช้ไม้แข็งๆ บุบให้แตกเพื่อจะได้ลอกเส้นใยไปใช้ประโยชน์เชิงการค้าต่อไป