สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

เป็ดบาบารี่ โตเร็ว น้ำหนักดี

เป็ดบาบารี่ เป็นหนึ่งในพันธุ์เป็ดเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในตลาดเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพของเป็ดพันธุ์เนื้อชนิดนี้ ปัจจุบันได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดและผู้ทำการเกษตรแบบผสมผสานในการนำมาเลี้ยงทั้งเพื่อเก็บไข่เป็ดไว้บริโภค นำมูลเป็ดมาใช้เป็นอาหารปลา และยังสามารถเลี้ยงเพื่อนำเนื้อไปจำหน่ายอีกด้วย

เป็ดบาบารี่ เป็นเป็ดที่มีขนสีขาวปกคลุมทั่วไปทั้งตัว ยกเว้นบริเวณกลางหัวที่จะมีกลุ่มขนสีดำไม่มากนัก ปากเป็ดบริเวณปลายมีสีชมพูเข้มแล้วไล่เป็นเฉดสีอ่อนลงขึ้นไปเรื่อยจนถึงบริเวณโคนปากที่กลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม บริเวณใบหน้ามีผิวเป็นเนื้อนูนสีชมพูแดงเป็นรอยตะปุ่มตะป่ำไม่เรียบ แข้งและเท้าเป็ดมีสีเหลืองเข้ม ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวเมียเกือบเท่าตัว น้ำหนักตัวผู้ที่เจริญสมบูรณ์จะมีน้ำหนักถึง 6 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียมีน้ำหนักได้ถึง 3.5 กิโลกรัม แม่เป็ดสามารถให้ไข่ราว 150-160 ฟองต่อปี

เป็ดบาบารี่จะใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงยาวนานกว่าเป็ดเชอรี่ โดยจะใช้เวลาเลี้ยงสำหรับตัวเมียประมาณไม่เกิน 65 วัน และตัวผู้ไม่เกิน 80 วัน ก่อนที่จะนำไปจำหน่ายได้ โดยไม่ควรเลี้ยงให้นานกว่านี้ เพราะจะทำให้คุณภาพของเนื้อเป็ดแน่นและแข็ง สูญเสียคุณภาพที่ดีลงไป คุณลักษณะของเป็ดชนิดนี้จะมีเนื้อแดงที่นุ่ม ไม่มีกลิ่นสาบ มีความแน่นของเนื้อ และมีหนังที่บางกว่าเป็ดเชอรี่

การทำฟาร์มเป็ดบาบารี่นั้นหากเลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิดควรต้องวางแผนเรื่องของขนาดเล้าให้เหมาะสมกับจำนวนเป็ด พื้นที่ในเล้าต้องถูกสุขลักษณะ สะอาดและแห้ง มีลมถ่ายเทสะดวก และควรนำแกลบมาโรยรองพื้นของเล้าเพื่อช่วยดูดซับความชื้นและแก๊ส  หลังคาสามารถกันแดดและฝนได้ดี เตรียมรางใส่อาหารซึ่งอาจจะใช้ยางรถยนต์ผ่าครึ่งมาเป็นรางใส่อาหารได้เพื่อลดการหกเลอะของอาหาร ส่วนรางใส่น้ำควรมีน้ำสม่ำเสมอเพราะเป็ดอาจจะเล่นน้ำไปด้วย ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองน้ำมากกว่าการเลี้ยงไก่ และควรวางรางอาหารและรางน้ำให้ห่างกัน เพื่อให้เป็ดได้ออกกำลัง และทิ้งช่วงให้เป็ดกลืนอาหารให้เสร็จก่อนที่จะอ้าปากไปกินน้ำ เป็นการลดการสูญเสียอาหารได้ด้วย ระหว่างเลี้ยงเป็ดบาบารี่ต้องให้น้ำให้อาหารอย่างเหมาะสม รักษาความสะอาดอยู่เสมอ โดยในรอบการผลิต 1 ปี จะให้ผลผลิตได้ถึง 4 รุ่น นอกจากนี้มูลเป็ดยังสามารถนำมาขายเป็นปุ๋ยคอก ทั้งนี้ควรกองปุ๋ยมูลเป็ดสุมกันไว้รอจนกว่าความร้อนในมูลเป็ดเย็นลงก่อนที่จะนำไปใช้บำรุงดินและพืช

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook