สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

ลางสาด ผลไม้ผลดก

ลางสาด คือชื่อของสกุลไม้ผลเขตอบอุ่นถึงร้อน ที่เป็นผลไม้ดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีภูมิอากาศร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทย และกระจายพันธุ์ไปยังประเทศออสเตรเลียและประเทศอื่นๆ ที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวย ซึ่งแต่ละประเทศได้ระบุชนิดของผลไม้ในสกุลนี้ออกเป็น 3-4 กลุ่ม โดยในมาเลเซียนั้น ได้แบ่งเป็น ดูกู ลางสาด ดูกู-ลางสาด และโดก็อง ส่วนในอินโดนีเซียพบว่ามี ดูกู ลางสาด และโคโคซาน ส่วนในไทยเรานั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ ลางสาด ดูกู และลองกอง

นไทยเรานั้นได้ระบุว่าลางสาดคือผลไม้ที่มีลักษณะผลยาว มีขนาดผลประมาณ 2.5 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบเนียนและบาง สีเปลือกผลเป็นสีเหลืองอ่อนแต่มีสีเข้มกว่าเปลือกผลลองกอง มียางสีขาวขุ่นเหนียวบริเวณเปลือกเมื่อแกะออก ทั้งนี้ลักษณะที่อธิบายไว้ในแต่ละกลุ่มของประเทศต่างๆ ก็มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะทางพันธุกรรมของพืชและสภาพแวดล้อม ในประเทศไทยเราจะพบต้นลางสาดได้มากในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศและบางพื้นที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ นอกจากนำเนื้อผลสดที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวถูกปากมารับประทานสดแล้ว เปลือกของต้นยังสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรต้อมกับน้ำสะอาดเพื่อดื่มกินรักษาอาการท้องเสียและอาการติดชื้อในลำไส้ เปลือกของผลเมื่อนำมาตากและคั่วให้แห้งและซอยเป็นเส้นนำมาชงเป็นชาดื่มแก้ท้องเสียและลดการปวดท้อง ส่วนเมล็ดด้านในผลนั้นใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากไวรัสเช่น งูสวัดและเริ่ม และยังสามารถนำมาใช้รักษาโรคในช่องหูได้

ลักษณะของต้นลางสาดจะมีความสูงระหว่าง 5-10เมตรขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต โดยจะเริ่มแตกกิ่งก้านสาขาที่บริเวณกลางลำต้น ปลายกิ่งชี้ขึ้น ลำต้นตั้งตรงชะลูด ผิวเปลือกของลำต้นขรุขระไม่เรียบมีสีเทาอ่อน ส่วนใบจะแตกออกคนละข้าง มีใบเรียบสีเขียวแก่มันวาวคล้ายมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่ ปลายใบแหลม รูปใบรี มีลายใบชัดเจน แตกดอกสมบูรณ์เพศเป็นช่อกระจุกตามกิ่งและลำต้น ดอกมีสีขาว เมื่อออกผลจะออกเป็นช่อสีเขียวเล็กๆ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนสีอ่อนลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสีเหลืองอ่อน ตรงกลางผลจะมีเมล็ดลักษณะรีและแบนและมีเยื่อหุ้มอยู่ประมาณ 4-5 เมล็ด รสชาติของเมล็ดเมื่อกัดจะมีรสชาติขมชัดเจน

โดยทั่วไปลางสาดจะชอบดินที่ระบายน้ำได้ดีอย่างดินร่วนปนทรายหรือดินร่วน ที่มีความโปร่งของดินและมีอินทรียวัตถุสูง พื้นที่เพาะปลูกควรมีน้ำพอเพียงและแสงแดดดี มักเริ่มปลูกกันในช่วงฤดูฝน วิธีการขยายพันธุ์มักใช้การตอนกิ่งเพราะติดดอกออกผลได้เร็ว ใช้เวลาราว 3-4 ปีหลังปลูกก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook