ดินลูกรัง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Skeletal soils มักจะพบออกมาเป็นดินที่หินขนาดเล็กและกรวดผสมอยู่ เป็นดินที่พืชส่วนใหญ่ไม่ชอบเพราะขาดความอุดมสมบูรณ์และขาดอินทรียวัตถุที่จำเป็นสำหรับพืช ดินไม่อุ้มน้ำเพราะมีเนื้อดินไม่มาก ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้ยาก และอาจจะทำให้การปรับหน้าดินยุ่งยากขึ้นเพราะอาจะมีเศษหินต่างๆ ที่ไม่อำนวยต่อการไถดิน และดินที่อยู่ชั้นที่ลึกลงไปมักจะเกาะตัวกันแน่นไม่โปร่ง ทำให้รากของพืชหยั่งลงลึกไม่ได้ ทำให้พืชไม่โต
ในที่ดินทางการเกษตรที่เป็นดินลูกรังจะทำให้ไม่ใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก การเลือกพืชที่จะนำมาปลูกจะต้องคัดสรรอย่างดี และที่สำคัญจะต้องมีต้นทุนในการปรุงดินค่อนข้างสูง ทำให้พื้นที่ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้หากเป็นพื้นที่ดอนและยังมีหน้าดินบ้างจะถูกใช้ทำเป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ แต่หากมีหน้าดินเหลือลึกถึง 20 เซนติเมตร จะนำมาใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่แต่ต้องมีการปรุงดิน ใส่ปุ๋ย และต้องมีการช่วยป้องกันการระเหยของความชื้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ต้องมีฟางคลุมดินเสมอ นอกจากนั้นยังสามารถใช้ปลูกไม้ผลที่เติบโตได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น มะม่วง น้อยหน่า มะขายและไผ่ เป็นต้น
การใช้ประโยชน์ของที่ทำกินที่เป็นดินลูกรังนั้น จะต้องมีขั้นตอนการวางแผนมากกว่าดินที่อุดมสมบูรณ์ตั้งแต่การเลือกพืชที่จะนำมาปลูกอย่างที่เล่าไปแล้วในช่วงต้นและต้องวางแผนเรื่องการดินและน้ำให้ดีเพราะน้ำอาจจะไหลเร็วมากจนดินไม่สามารถจะกักเก็บน้ำไว้เพื่อใช้บำรุงพืชได้ เริ่มตั้งแต่การปลูกพืชขวางทางไหลของน้ำเพื่อให้น้ำชะลอตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมหญ้าแฝกที่ช่วยยึดหน้าดินได้ดีอีกประการหนึ่งด้วย หรืออาจจะใช้วิธีการทำคันถนนขวางทางน้ำก็ได้ ส่วนของเรื่องการดูดน้ำนั้นจำเป็นต้องมีการปลูกพืชคลุมดิน และควรมีการขุดบ่อเพื่อสำรองน้ำไว้ในช่วงหน้าแล้ง และการให้น้ำควรเน้นการให้ด้วยความถี่สูงแต่ใช้ปริมาณน้ำน้อยโดยอาจจะต้องวางระบบสปริงเกอร์เข้าช่วยเพื่อลดเรื่องการใช้แรงงานคน
การปรับสภาพดินลูกรังอาจจะใช้ปุ๋ยหมักเข้ามาผสมในดินประมาณ 2-4 ตันต่อไร่ หรืออาจะเทไว้ที่ก้นหลุมปลูกในกรณีที่ปลูกพืชประเภทผลไม้ ราว 25-50 กิโลกรัมต่อหลุม หรืออาจจะลดการใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกลงได้ ด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่วก่อนทำการปลูกพืชต่างๆ ราว 2 เดือนเพื่อจะได้ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดได้ โดยพืชที่นิยมนำมาทำปุ๋ยพืชสดกันมาก ได้แก่ ถั่วพร้า ถั่วพุ่มและปอเทือง ที่จะช่วยให้ดินลูกรังมีคุณสมบัติดินที่ดีขึ้นและทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น