น้ำมันหอมระเหย เป็นน้ำมันที่ได้จากพืชหรือพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ซึ่งคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยนั้นจะแตกต่างกันไปตามชนิดของพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการกลั่นสกัด ปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยมีความสำคัญเนื่องจากสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น ใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจสินค้าที่ตกแต่งกลิ่นจากสารสกัดจากธรรมชาติมากกว่าสารตกแต่งกลิ่นสังเคราะห์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมพัฒนา “พืชสมุนไพร” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินยุทธศาสตร์ ยกร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งเบื้องต้นได้มีการขับเคลื่อนนโยบายด้วยการสร้างเมืองสมุนไพรต้นแบบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาพืชสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป และการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง รวมถึงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
ประเทศไทยมีความหลากหลายของพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำมันหอมระเหย โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสกลนครซึ่งมีศักยภาพในด้านการผลิตวัตถุดิบ การแปรรูป การใช้งาน และคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกลั่น รวมถึงมีเครื่องมือสำหรับการกลั่น และมีความประสงค์ที่จะพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานในรูปแบบเชิงพาณิชย์สู่สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม สวก. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ ผศ.ดร.นำพน พิพัฒน์ไพบูลย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ดำเนินการศึกษาต่อเนื่องในรูปแบบของโรงงานต้นแบบเพื่อการกลั่นน้ำมันหอมระเหยเชิงพาณิชย์
โดยต่อยอดจากงานวิจัยเดิมที่นักวิจัยเคยได้รับทุนสนับสนุนจาก สวก. ในปีงบประมาณ 2557 โครงการ“เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหยแบบเทอร์โมไซฟอนสำหรับการผลิตน้ำมันหอมระเหยระดับอุตสาหกรรม” โดยมีเป้าหมายเพื่อดำเนินการในรูปแบบการกลั่นน้ำมันหอมระเหยเชิงพาณิชย์ ทั้งการจัดหาวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อจัดจำหน่าย การรับจ้างกลั่นน้ำมันหอมระเหยให้กับผู้ที่สนใจ การรวบรวมข้อมูลที่ได้เพื่อวิเคราะห์ผลทางเศรษฐศาสตร์ในด้านความเป็นไปได้และจุดคุ้มทุนในการดำเนินการเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจได้เข้าถึงข้อมูลที่แท้จริง และเมื่อสามารถพัฒนาให้เกิดโรงงานกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรได้สำเร็จ จะส่งผลให้ประเทศไทยลดการนำเข้าน้ำมันหอมระเหยจากต่างประเทศ สามารถผลิตและส่งออกน้ำมันหอมระเหยไปยังต่างประเทศได้ในอนาคต อีกทั้งเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรมีตลาดรองรับ ทำให้อาชีพปลูกพืชสมุนไพรมีความยั่งยืนมั่นคงยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมและภาคเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว