สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

การพัฒนากระบวนการหมักสมุนไพรเพื่อควบคุมโรคพืช

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตวัตถุดิบและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อการส่งออกที่สำคัญของตลาดโลก แต่ละปีเกษตรกรไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากโรคและแมลงศัตรูพืชในภาคการเกษตรที่สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท ส่งผลให้ต้องมีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรเพื่อนำมาใช้ในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชจำนวนมากจนก่อให้เกิดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของตัวเกษตรกรและผู้บริโภคที่เกิดจากพิษเฉียบพลันและพิษสะสมจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรดังกล่าว รวมถึงต้นทุนความเสียหายต่อระบบนิเวศอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันทั่วโลกและรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของการจำกัดปริมาณการใช้และชนิดสารเคมีอันตรายที่ใช้ทางการเกษตรจึงได้มีการยกเลิกสารเคมีหลายชนิด ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาหาสารอื่นๆ ที่มีความปลอดภัยมาใช้ทดแทน จากสถานการณ์ดังกล่าวเกษตรกรบางส่วนจึงหันมาผลิตน้ำหมักชีวภาพจากพืชสมุนไพรต่างๆ เพื่อใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช ป้องกันโรคพืชจากเชื้อราจุลินทรีย์ก่อโรค และใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรอินทรีย์ของคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเกษตรกรมีความต้องการสารออกฤทธิ์ชีวภาพที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคและศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีในปริมาณมาก แต่จากข้อจำกัดของกระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าพืชสมุนไพรที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมีปริมาณน้อย หายากในบางพื้นที่ ขาดอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับการผลิตที่เหมาะสม ขาดองค์ความรู้เชิงลึก เช่น กระบวนการผลิตยังไม่มีสูตรของส่วนผสมวัตถุดิบที่เหมาะสม และการขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิต ส่งผลให้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพมีคุณภาพไม่แน่นอน ไม่มีความจำเพาะต่อเชื้อก่อโรคพืชและศัตรูพืช ตลอดจนไม่สามารถควบคุมโรคและศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องใช้ระยะเวลาการผลิตนานกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี และมีกำลังการผลิตต่ำซึ่งไม่ตอบโจทย์กับปริมาณความต้องการในภาคการเกษตร

สวก. เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนากระบวนการหมักสมุนไพรเพื่อควบคุมโรคพืช” โดยมี ผศ.ดร.ณัฏฐิพร อร่ามเรือง เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและพัฒนาสารชีวภาพต่อการควบคุมโรคพืชจากเชื้อรา รวมถึงการศึกษาเสถียรภาพของสารออกฤทธิ์ระหว่างการเก็บรักษาและการใช้งาน เพื่อเป็นการยกระดับการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความรวดเร็ว ได้มาตรฐาน สามารถควบคุมคุณภาพสารออกฤทธิ์ให้คงที่และเหมาะสม จนนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรมร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรทั่วไปหรือกลุ่มเกษตรอินทรีย์ รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และที่สำคัญสอดคล้องกับแนวทางนโยบายการเกษตรแผนใหม่ (Modern Agriculture) ในปัจจุบัน

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook