รัฐบาลไทยได้ผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยกลุ่มเกษตรและอาหารใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Food & Agriculture – Biotech) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้มีนโยบายสำคัญมุ่งพัฒนาสู่ “ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองในระดับที่เหมาะสม” ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอก รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และ เทคโนโลยีเกษตรเชิงตัวเลข และการจัดการ (Digital Agriculture Technology & Management) เป็นส่วนหนึ่งของ Cluster ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่ระบบเกษตรแปลงไร่นาแบบอัจฉริยะ Smart farm
สวก.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการให้น้ำแก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่” แก่คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.จักกริช พฤษการ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในเรื่องของการให้น้ำในระดับแปลงไร่นาให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เกษตรกรรมของโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ โดยใช้ชื่อว่า “แอปพลิเคชัน CropIris” ซึ่งแอปพลิเคชันที่คำนวณช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้น้ำและปริมาณน้ำที่ให้แก่พืชแบบเรียลไทม์ โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลชนิดพืช ปฏิทินการเพาะปลูก กลุ่มชุดดิน ร่วมกับฐานข้อมูลมูลภูมิอากาศที่ได้จากสถานีตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ และแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นกำหนดการให้น้ำชลประทานที่เหมาะสมต่อพืช ลักษณะการเพาะปลูก สภาพดิน และสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือตรวจวัดใดๆ โดยดำเนินการศึกษาในพื้นที่โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 3.2 ล้านไร่ ใน 7 จังหวัด ดำเนินการด้านชลประทานครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการจัดหาน้ำเพื่อการบริโภค อุปโภค การบรรเทาสาธารณภัย การประมง การคมนาคม การระบายน้ำและการป้องกันน้ำเค็ม อีกทั้งพื้นที่เกษตรกรรมในโครงการชลประทานดังกล่าวมีความหลากหลายของชนิดพืชและระยะเวลาในการปลูก รวมถึงวิธีการให้น้ำที่แตกต่างกันไป
จุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้สามารถใช้งานเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการใช้น้ำและกำหนดปฏิทินเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่สำหรับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ชลประทาน ทั้งในส่วนของการคำนวณกำหนดการให้น้ำที่มีความแม่นยำสูงและมีความสอดคล้องกับข้อมูลการตรวจวัด และช่วยอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้น้ำในระดับแปลงไร่นา เป็นการต่อยอดนวัตกรรมด้านเกษตรอัจฉริยะและเทคโนโลยีเกษตรเชิงตัวเลขรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตได้ดียิ่งขึ้น