โรคอ้วนที่นำไปสู่โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และ มะเร็ง เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขที่แทบทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ โดยมีสาเหตุของโรคมาจากหลายสาเหตุ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมจัดเป็นหนึ่งในสาเหตุดังกล่าว รวมไปถึงการบริโภคน้ำตาลในแต่ละรูปแบบ ทั้งนี้การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานยังเป็นหนึ่งในปัญหาที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ โดยในปี พ.ศ.2559 ได้มีนโยบายให้ทุกประเทศทั่วโลกลดระดับการใช้น้ำตาลลง 10% ของพลังงานรวมทั้งหมดโดยประเทศไทยได้ นโยบายภาษีน้ำตาลมาใช้เมื่อ 16 กันยายน 2560 และในภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหารก็มีความตื่นตัวที่จะลดปริมณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้เป็นไปตามข้อแนะนำของ WHO แต่เพื่อยังให้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มยังคงรสชาติความหวานโดยมีการทดแทนด้วยสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งทำให้แนวโน้มของการใช้สารให้ความหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (วันทนีย์ เกรียงสินยศ, 2554) นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความนิยมในผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ดังนั้นแนวโน้มของการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มาจากธรรมชาติ เช่น steviol glycoside มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลประเภทอื่น (ชนิพรรณ บุตรยี่, 2552) ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคการศึกษาสถานการณ์การได้รับสัมผัสสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ปัจจุบันจึงมีความสำคัญ
จากข้อมูลต่างๆที่กล่าวข้างต้น และถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มมาเป็นการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล อาจจะมีผลทำให้การได้รับสัมผัสสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเกินค่าความปลอดภัยในการบริโภค ADI ได้ จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานของภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภค ต้องมีข้อมูลทางวิชาการที่สามารถใช้ในการสื่อสารกับภาคอุตสาหกรรมและประชาชน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำข้อมูลไปใช้ในการคงไว้ของค่า maximum limit หรือการปรับเปลี่ยนค่า maximum limit ที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
สวก.จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะผู้วิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการ “การศึกษาสถานการณ์การใช้และการได้รับสัมผัสวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลในประเทศไทย” โดยมี ผศ. ดร. ปรัญรัชต์ ธนวิยุทธ์ภัคดี เป็นหัวหน้าคณะวิจัย เพื่อศึกษาสถานการณ์การผลิต นำเข้าและการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มและประเมินความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัสวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีการบริโภคในประเทศไทย รวมถึงการได้ค่า Maximum limit ที่เหมาะสมของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเน้นในกลุ่มอาหารที่เป็น main contributor สำหรับใช้เป็นปริมาณที่จะอนุญาตให้เติมลงในผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ในการวิจัยนี้ได้ประเมินความเสี่ยงของการได้รับสัมผัสสารให้ความหวานแทนน้ำตาลโดยไม่รวมถึงขั้นตอน hazard characterization หรือ การหาค่า ADI เนื่องจากประเทศไทยใช้ค่าอ้างอิงนี้ตาม CODEX
ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลในการทำข้อเสนอเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายลดความหวานและที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายภาษีน้ำตาล ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดค่า maximum limit ในประกาศกระทรวงสาธารณะสุข และภาคเอกชน สามารถใช้เป็นข้อมูลในกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และยังเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคในด้านการบริโภคที่ปลอดภัยอีกด้วย