สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่ https://tarr.arda.or.th/ปี 2565

อาหารกบ ปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพกบ

อาหารกบ คือ ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงกบ ซึ่งกลายเป็นอาชีพที่เกษตรกรหลายท่านให้ความสนใจและหันมาประกอบเป็นอาชีพทางเลือกมากขึ้น เพราะกบตามแหล่งธรรมชาติมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและความต้องการบริโภคที่มีสูงมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังมีการส่งเสริมอาชีพกันอย่างกว้างขวาง อาหารกบเป็นหัวใจที่จะช่วยให้กบเกิดการเจริญเติบโตได้รวดเร็วและมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ  โดยเราต้องคำนวณเรื่องของปริมารการแลกอาหารเปลี่ยนเป็นเนื้อกบ ซึ่งการให้อาหารระหว่างกบที่จับมาจากแหล่งกำเนิดธรรมชาติกับแหล่งเพาะเลี้ยงนั้นจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ข้อมูลจากเอกสารคำแนะนํา กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้คำแนะนำว่า ลูกกบที่จับมาจากธรรมชาติ เมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อหรือคอกกบในช่วง 2 วันแรก กบจะมีอาการตื่นสถานที่และเหนื่อยอ่อนจนไม่ยอมกินอาหาร ดังนั้นเราต้องให้ปลาบดทีละเล็กน้อยเพื่อให้ลูกกบปรับตัวในการกินอาหาร โดยให้กินอาหารราวร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว /วัน เมื่อลูกกบมีอายุได้ 14 วัน และสามารถปรับตัวเข้ากับสถานที่ได้จึงปรับอาหารให้เป็นปลาเป็นตัวหรืออาจจะหั่นให้เหมาะสมกับขนาดของปากกบ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปลายข้าวและผักบุ้งในอัตราส่วน 1:2 มาต้มผสมกับเนื้อหอยโข่งและเนื้อปลา เพื่อลดการใช้ปลาสดลง โดยหลังจากต้มเสร็จแล้วพักให้อาหารเย็นจึงนำไปให้กบกิน อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ในการเตรียมอาหารกบต้องมีการดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หากมีสิ่งปนเปื้อนหรือของเน่าเสียสะสมไว้ จะทำให้กบเกิดปัญหาได้

การให้อาหารกบสำเร็จรูป โดยทั่วไปเราจะให้อาหารกบตามวัย ยิ่งอายุน้อยจะอยิ่งใช้อาหารเบอร์เล็ก ให้ในปริมาณที่พอเหมาะกับวัย โดยไม่ให้มากเกินไป เพราะกบเป็นสัตว์ที่สามารถกินได้ตลอดเวลา หากกินเยอะไปอาจแน่นท้องและกบตายได้ ดังนั้นกบเล็กควรให้อาหารวันละ 3 ครั้ง/วัน ส่วนกบโตให้ 2 ครั้ง/วัน อาหารกบเล็กจะมีส่วนผสมของโปรตีนสูงทำให้ราคาต้นทุนอาหารกบเล็กแพง

นอกจากนี้ในบางกรณีที่พบว่ากบเกิดโรคหรือติดเชื้อ ให้ทำการแยกกบตัวที่มีอาการของโรคออกจากบ่อและนำมาให้ยารักษา พร้อมกับการคลุกวิตามินต่างๆ เพื่อเสริมอาหารให้กบกิน เพื่อให้กบหายจากโรคได้เร็วขึ้น ซึ่งโรคกบที่พบมักเกิดจากการจัดการฟาร์มที่บกพร่อง เช่น การปล่อยกบต่อบ่อมากเกินไป การให้อาหารกบมากเกินไป จนเกิดการสะสมของเสียในบ่อ ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย เกิดเป็นแผลบนผิวหนังของกบและเกิดการเน่าเปื่อยในที่สุด รวมทั้งโรคที่เกิดในทางเดินอาหารจากโปรโตซัว ดังนั้นการให้อาหารจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เราจึงต้องวางแผนให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนที่สูงเกินไปแต่ได้ผลผลิตที่ตอบโจทย์ตลาดได้

สามารถสืบค้นผลงานวิจัยและองค์ความรู้การเกษตร ได้ที่  https://tarr.arda.or.th

พันธมิตร

Chulabook